
หนุนครอบครัววัยทำงาน กรมอนามัยจับมือเอกชนขนส่งฟรี “นมแม่แช่แข็ง”

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” โดย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น
โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก
ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานต่างจังหวัดสามารถส่งนมแม่ข้ามจังหวัดได้ โดยไม่มีภาระ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานนอกบ้าน หรือแม่ที่ทำงานต่างจังหวัดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังคงสามารถให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากเป็นการส่งต่อภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติให้ลูกน้อยแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเพื่อไปหาซื้อ สามารถให้ลูกกินได้ ทุกที่ ทุกเวลา
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต รวมทั้งมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคม ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง สนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็ก ขณะเดียวกันแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เนื่องจากมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด และเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรค ที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น และยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
“ตั้งแต่ปี 2563-2564 ที่เริ่มมีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการขนส่งนมแม่ฟรี มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 3,690 ราย และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จึงได้จัดโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2567 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งนม และช่วยชะลอการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมผงได้ด้วย”
ในการลงนามในครั้งนี้ ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้จัดทำคำแนะนำขั้นตอนการเก็บนมแช่แข็ง การบรรจุนมเพื่อขนส่ง รวมทั้งบริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานแจ้งเส้นทางการขนส่ง จุดรับ – ส่งนมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และให้ความอนุเคราะห์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทุกเส้นทางที่บริษัทให้บริการ ยกเว้นการให้บริการระหว่างประเทศ และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ที่ช่วยดำเนินงานดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ Line@
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งน้ำนมฟรี การสนับสนุนให้มีการลาคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 นี้ แม่ที่ฉีดวัคซีนสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ลูกโดยผ่านน้ำนมได้
ธีลฎี พันธุมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในปัจจุบันด้วยความจำเป็นต่างๆ ของคุณเเม่ เช่น การทำงานต่างจังหวัดหรือไกลบ้าน มีภารกิจสำคัญ ทำให้คุณแม่อาจไม่สามารถเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ได้สะดวก โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและการเก็บรักษา ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพและโภชนาการน้ำนมที่สูญเสียไประหว่างการขนส่ง สายการบินแอร์เอเชียจึงได้ทำงานร่วมกับกรมอนามัยเพื่อผลักดันโครงการ และยินดีขนส่งน้ำนมเเม่สู่ลูกฟรี ในทุกเส้นทางบินภายในประเทศ
“หลายปีที่ผ่านมาสายการบินได้มีโอกาสร่วมกับกรมอนามัยเพื่อขนส่งน้ำนมแม่สู่ลูก โดยเริ่มจากเส้นทางบินภาคอีสาน ก่อนขยายมาให้บริการทั่วประเทศในปัจจุบัน ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สายการบินรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในการได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการเเบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย พร้อมสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้ทานนมเเม่เเม้อยู่ห่างไกลคนละพื้นที่ ด้วยมาตรฐานการขนส่งทางอากาศที่มีคุณภาพและรวดเร็วที่สุด” นางธีลฎีกล่าว
ผู้ที่ต้องการขนส่งน้ำนมแม่แบบไม่มีค่าใช้จ่ายกับเเอร์เอเชีย เพียงปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1.ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์กรมอนามัย Line@anamaimilk 2.ตรวจสอบเส้นทางเเละเวลาเที่ยวบินที่ให้บริการได้ที่ airasia Super App 3.แพ็กน้ำนมแช่เเข็งลงกล่องโฟม พร้อมน้ำเเข็งเเห้งหรือคูลเเพ็คตามมาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด น้ำหนักรวมไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อกล่อง ไม่จำกัดจำนวนกล่อง 4.นำส่งน้ำนมที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ณ ท่าอากาศยานต้นทางล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงก่อนกำหนดการบิน 5.ติดต่อรับของได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร ณ ท่าอากาศยานปลายทาง ทั้งนี้สามารถดูวิธีการเเพ็กน้ำนมเเช่เเข็ง หรือตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชั่นไลน์กรมอนามัย @anamaimilk หรือส่งนมเเม่เเช่เเข็งกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ได้เเก่ บริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยเเอร์ จำกัด


“นมแม่” ปกป้องทารกจากโควิด-19 ได้ดีที่สุด
เว็บไซต์ยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอบทความ “ยูนิเซฟชี้นมแม่ช่วยปกป้องทารกจากการติดเชื้อได้ดีที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19” เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี โดยได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาสุขอนามัยขณะให้นมลูกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยน้ำนมแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกแข็งแรงและช่วยปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วย
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า โควิด-19 สามารถติดต่อผ่านน้ำนมแม่ได้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถให้นมจากเต้า และโอบกอดแนบเนื้อได้ แม้ว่าแม่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูงก็ตาม อย่างไรก็ดี แม่ควรรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัยขณะให้นมลูก ล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังสัมผัสลูก ตลอดจนหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่แม่สัมผัสบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
การศึกษาต่าง ๆ พบว่า ประโยชน์ของนมแม่มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก อีกทั้งแอนติบอดี้ในนมแม่ยังอาจช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อหากทารกได้รับเชื้อโควิด-19
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการช่วยให้ทารกเติบโตอย่างแข็งแรงโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับทารก เพราะเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ แอนติบอดี้ ฮอร์โมน และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกและป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดี”
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กทั้งในช่วงแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การศึกษาต่าง ๆ พบว่าเด็กที่ได้กินนมแม่มักจะมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยน้อยกว่า อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะมีไอคิวสูงกว่า มีการศึกษาที่สูงกว่าและทำงานที่ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยเสริมสร้างสายใยรักและผูกพันระหว่างแม่กับลูก อีกทั้งลดความเสี่ยงของแม่ในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่อีกด้วย
องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก เพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตรานี้ต่ำที่สุดในภูมิภาค ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า มีเด็กเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ใน พ.ศ. 2559
ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้ภาครัฐบาลและเอกชนเพิ่มการลงทุนในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวอย่างเช่น บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้ทารกแรกเกิดได้รับนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด พร้อมให้ความรู้และคอยแนะนำให้แม่สามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขควรปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อย่างเคร่งครัด เช่น กำกับดูแลการตลาดออนไลน์ของนมผงที่เข้าถึงแม่โดยตรง หรือห้ามการแจกตัวอย่างนมผงภายในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ภาครัฐบาลและเอกชนควรออกนโยบายที่เป็นมิตรกับเด็กและครอบครัวเพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ต้องกลับไปทำงาน เช่น สามารถลาคลอดได้อย่างน้อย 18 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง หรือสิทธิลาคลอดสำหรับพ่อ ในขณะเดียวกัน ที่ทำงานควรมีนโยบายที่ชัดเจนและจัดให้มีมุมนมแม่ที่สะอาดปลอดภัยเพื่อให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้
นางคิมกล่าวต่อไปว่า “อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ค่อนข้างต่ำในประเทศไทยบอกเราว่า เด็กจำนวนมากกำลังพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ยูนิเซฟยังคงผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นมิตรกับเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์นี้กระตุ้นให้สังคมรู้ว่า แม่ยังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดที่บริการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จได้เพื่อประโยชน์ของเด็กทุกคนจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างแท้จริงของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว นายจ้าง ระบบสาธารณสุข และรัฐบาล”