
เตรียมตัวเป็น “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”
ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เรียกว่า “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นรูปแบบครอบครัวร่วมสมัยที่พบเจอได้ทั่วไป ทั้งในประเทศไทยของเราและในบ้านเมืองอื่น แตกต่างจากในอดีต ถ้าพูดถึงครอบครัว เรามักจะนึกถึงแต่การอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก หรือการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลากรุ่นหลายวัย
ถึงแม้ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบที่หลากหลายของครอบครัวในปัจจุบัน แต่ถ้าเราเองมีอันจะต้องปรับตัวเปลี่ยนบทบาทเป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” หรือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็คงเป็นเรื่องชวนให้จิตใจสั่นไหวอยู่ดี
“เลี้ยงเดี่ยว” เตรียมตัวได้
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว อาจมีสาเหตุมาจากการหย่าร้าง แยกทาง ทอดทิ้งกันไปโดยไม่บอกกล่าว รวมไปถึงการลาลับดับสูญของคู่ชีวิต ความน่าหวาดหวั่นของการเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องจิตใจ อารมณ์ สังคม ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ การเลี้ยงดูลูก รายรับรายจ่าย การงานอาชีพ และอาจมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกประเด็นจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะรับมือได้อย่างเหมาะสม

1. จิตใจ อารมณ์ สังคม
ความวิตกกังวล สับสน สูญเสีย โศกเศร้า โดดเดี่ยว เครียด เคียดแค้น อาฆาต และอาจคิดว่านี่คือความล้มเหลวในชีวิตคู่ ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ
ทางออก ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งยอมรับความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะเรากำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่อเค้าว่าชีวิตน่าจะลำบากทุลักทุเลกว่าเดิม ตามธรรมชาติแล้ว ความรู้สึกต่างๆ พอเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง อย่าพยายามดึงรั้งมันไว้ มองหากิจกรรมหรือพูดคุยกับคนที่จะช่วยเสริมพลังบวกให้เราได้ แต่ถ้ารอนานแล้ว ความรู้สึกเชิงลบยังวนๆ เวียนๆ ไม่ผ่านไปเสียที เบื้องต้น อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วน 1323 ที่กรมสุขภาพจิต จัดไว้บริการประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ความปั่นป่วนภายในใจ บ่อยครั้งเป็นผลจากปัจจัยภายนอก เช่น คนรอบข้าง ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า สังคมมีค่านิยมบางอย่าง เช่น มองการหย่าร้างเป็นเรื่องแย่ หรือแม้แต่ชี้นิ้วทันทีว่าเพราะผู้หญิงไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายถึงทิ้งไป วิธีคิดแบบนี้มักนำมาสู่คำถามให้ต้องตอบซ้ำซาก ซึ่งถ้าคิดดีๆ ป้าข้างบ้าน คนที่ทำงาน เพื่อนเก่าที่ 20 ปีเจอกันที ฯลฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา
ดังนั้น ถ้าไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ เราก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้โลกรู้ แค่ทำใจร่มๆ ตอบคำถามตามความจำเป็น ด้วยความหนักแน่นและนุ่มนวล โดยไม่ต้องหวั่นไหว
2. ชีวิตความเป็นอยู่
จากที่เคยอยู่กันพ่อแม่ลูก ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไป แยกกันอยู่แล้ว ใครจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าต้องหาที่อยู่ใหม่ ที่ทำงานของเรา โรงเรียนของลูก จะเดินทางกันอย่างไร ความท้าทายในชีวิตของแต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันไป
ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดไม่ออกแน่ เครียดมาก อย่าเก็บตัวอยู่คนเดียว อย่าซ่อนตัวเองจากโอกาส เพราะอาจมีคนที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่หน่วยงานมืออาชีพ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีทางออกที่ตรงกับโจทย์ของเรา เบื้องต้น ลองสอบถามข้อมูลที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
3. การเงินการงาน
ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีคนหารค่าใช้จ่าย แถมรายได้จากคูณสอง ตอนนี้ก็จะเหลือแค่ขาเดียว สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือการวางแผนรายรับรายจ่าย พอไหวหรือยังขาด จำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม หรือเติมทักษะการทำงานหรือเปล่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการจัดอบรมทักษะอาชีพให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งในจังหวัดต่างๆ อาจลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้
ส่วนการทำงาน ประเมินดูแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น เดิมมีคนไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าตอนนี้ต้องไปรับส่งเองจะทำอย่างไร พูดคุยกับหัวหน้างานได้ไหม ปัจจุบันองค์กร/สถานประกอบการมีแนวโน้มในการยืดหยุ่นเรื่องเวลาให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าแต่ละคนล้วนแต่มีภาระเรื่องครอบครัว
นอกจากนี้ แม้จะแยกย้ายไม่เป็นสามีภรรยากันแล้ว แต่ความรับผิดชอบเรื่องลูกยังอยู่ ฝ่ายที่จะแยกตัวไปโดยไม่เอาลูกไปด้วยจะสมทบค่าใช้จ่ายแค่ไหน อย่างไร ตรงนี้ต้องเจรจาหาข้อตกลงกัน และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
4. กฎหมาย ใช้ให้เป็น
การเลิกราแยกทาง มีความแตกต่างระหว่างคู่ที่จดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งทั้งสองแบบทั้งสองควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การแยกกันอยู่ชั่วคราว การจดทะเบียนหย่า การฟ้องหย่า การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิการดูแลหรือการติดต่อลูก ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องราวมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขึ้นกับเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว มีหลายหน่วยงานที่บริการคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157
…
อย่าลังเลที่จะหา “ตัวช่วย” โดยหน่วยงานต่างๆ มีบริการที่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือ เพื่อให้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คลี่คลายลงได้
ปรึกษาและแนะนำช่วยเหลือ :
เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว.com และไลน์ @linefamily
ที่มา :
ชุดความรู้สำหรับพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว. สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. มิถุนายน 2557

สร้างสรรค์บทความโดยความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แกร่งกว่าที่คิด
“ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะคิดว่าพนักงานแต่งงานแล้ว ต้องมีคู่แต่งงาน และถ้ามีลูก ก็ต้องมีคนช่วยดูแลลูก ฉะนั้น จะเรียกตัวพนักงานเมื่อไรก็ได้”
ทันซิน่า เวก้า นักข่าวและผู้จัดรายการวิทยุ The Takeaway พูดถึงวัฒนธรรมทำงานหนักในปัจจุบัน ที่บริษัทมองว่าพนักงานต้องพร้อมเรียกใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทันซิน่ายังบอกอีกว่า การละเลยความเป็นจริงว่าพนักงานมีภาระต้องดูแลครอบครัว ดูแลลูก โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้นโยบายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบริษัทไม่ครอบคลุม และสอดคล้องต่อความต้องการ
ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนัก สถานรับเลี้ยงดูเด็ก โรงเรียนถูกสั่งปิด พนักงานที่มีครอบครัวต้องรับสองหน้าที่พร้อมกัน ทั้งการเป็นพนักงานออฟฟิศ และเป็นพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูก ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พอนาน ๆ เข้า อาการเครียดส่งผลให้มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (ภาวะ Burnout) ไปในที่สุด
บริษัทยุคใหม่สนใจ จ้างพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
ขณะที่หลายบริษัทอาจเชื่อว่า พนักงานที่มีสถานะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวน่าจะไม่ทุ่มเทกับการทำงาน จึงไม่อยากจ้างพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ก็มีบริษัทจำนวนอีกหนึ่งที่มองเห็นโอกาส ด้วยความเชื่อที่ว่า การจ้างพนักงานที่เลี้ยงลูกคนเดียว น่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจ
บริษัทเหล่านี้เชื่อว่าพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจะรู้จักการจัดสรรเวลาที่ดี และมีทักษะการจัดการปัญหาดีเยี่ยม ซึ่งจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ เพราะคนเหล่านี้เห็นคุณค่าของเวลา เนื่องจากมีเวลาจำกัด จึงจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นพนักงานที่ยินดีทำงานหนัก และไม่เปลี่ยนงานบ่อย เพราะมีภาระรับผิดชอบเรื่องลูก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องการงานที่มั่นคง และยินดีที่จะทำงานหนักทุ่มเทให้กับบริษัท

เลี้ยงเดี่ยว สู้วิกฤต
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีอัตราพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวสูงที่สุดในโลก เด็ก ๆ ชาวอเมริกันราว 1 ใน 4 โตมากับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว และส่วนใหญ่ราว 80 เปอร์เซ็นต์เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว
แม้จะมีความเข้มแข็งเพราะต้องต่อสู้ตามลำพัง กระนั้น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง
ในช่วงโควิดระบาดที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2020 พบว่ากลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวคือกลุ่มเปราะบาง เพราะมักมีค่าแรงต่ำ ทำงานที่ไม่มั่นคง จึงมักจะถูกไล่ออกก่อนกลุ่มอื่น ขาดรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว
ทิฟฟานี่ ซาบาร่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟียให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า การระบาดของโควิดทำให้เธอตกงาน เพราะร้านอาหารถูกสั่งปิด เธอขาดรายได้ และไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ทำให้ต้องพาลูกไปนอนในรถ แต่ท้ายที่สุดก็มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านที่พัก ลูกสาวของเธอขาดการเรียนและต้องตามเพื่อนให้ทัน
นอกเหนือจากการถูกไล่ออกจากงาน การขาดคนดูแลเด็กก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องลาออกจากงานด้วยเช่นกัน เมื่อโควิดระบาด โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กสั่งปิด พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีคนดูแลลูก และไม่สามารถขอบริษัททำงานที่บ้านได้ ต้องลางานหรือออกจากงานมาดูแลลูกอยู่ที่บ้าน
นโยบาย/สวัสดิการ ดูแลครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
ดร.สเตฟานี ลี ผู้อำนวยการศูนย์ Child Mind Institute ที่ดูแลสุขภาพจิตของเด็กและครอบครัว ระบุว่าภาวะเหนื่อย เครียด หมดแรง กำลังเป็นภาวะที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวกำลังเผชิญในวิกฤติโควิด สิ่งที่บริษัท สามารถช่วยแบ่งเบาพนักงานได้คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเอื้อต่อการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เน้นความสร้างสรรค์มากกว่าการใช้เวลานาน หรือมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

บางประเทศมีนโยบายด้านแรงงานที่มุ่งสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ลูกจ้าง เช่น การลางานของพ่อแม่
ในประเทศนอร์เวย์ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสิทธิลาได้ 20-30 วันต่อปี เพื่อดูแลลูกป่วย แต่พ่อแม่คู่สมรสมีสิทธิลาได้แค่ 10-15 วัน
ส่วนเยอรมนี ให้สิทธิพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ลาได้ 20 วัน ส่วนพ่อแม่คู่สมรสลาได้ 10 วันเท่านั้น โดยมองว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรับภาระ 2 เท่า
หรือแม้แต่การให้พนักงานได้หยุดงาน หรือพักผ่อนร่างกายและจิตใจในช่วงที่กำลังมีความเครียด เหนื่อยจากการทำงาน หรือมีเรื่องฉุกเฉินต้องไปจัดการก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ตามกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ พนักงานมีสิทธิขอลาได้อย่างน้อย 12 อาทิตย์ต่อปีเพื่อเหตุผลในการดูแลลูกและครอบครัว
อัลลิสัน กริฟฟิน เป็นรองประธานบริษัท Whiteboard Advisors บริษัทให้คำปรึกษาภาคธุรกิจ และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกชาย 2 คน ระบุว่าการระบาดของโควิดทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งต้องเลี้ยงลูกที่อยู่บ้านตลอดเวลา เพราะโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กปิดเนื่องจากโควิดระบาด
เธอใช้วิธีแก้ปัญหาคือ การเจรจากับบริษัทเพื่อให้ปรับการทำงานโดยมีเวลาที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น บริษัทรับรู้ถึงความเครียดจากการทำงานและการต้องเลี้ยงดูลูกในช่วงโควิด จึงยินดีที่จะรับฟังและให้กริฟฟินทำงานที่บ้าน และหยุดพักได้เมื่อรู้สึกว่างานหนักหน่วง
ชีวิตประจำวันของกริฟฟินในช่วงนี้ คือการออกกำลังกายตอนเช้า ก่อนเข้างาน เมื่อเริ่มลงมือทำงานเธอจะเลือกงานที่มีความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรก และแยกเวลาทำงานกับเวลาจัดการเรื่องในบ้านออกจากกันอย่างชัดเจน กริฟฟินจะเคลียร์งานให้หมดในวันศุกร์ ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์ เธอจะอยู่กับลูก ๆ โดยไม่เปิดหน้าจอคอม หรือตอบอีเมลเลยเป็นอันขาด
“ฉันเชื่อว่าโควิดทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ฉันเห็นเพื่อนร่วมงานหลายคนประชุมออนไลน์มีแมวนั่งอยู่บนตัก บางคนมีลูก ๆ วิ่งเล่นอยู่ข้างหลัง บางคนมีผู้สูงวัยต้องดูแลในบ้าน ฉันรู้สึกว่าถ้าเรามีเวลาที่ยืดหยุ่น จะทำให้สามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้นมากๆ เลย” กริฟฟินระบุ