
ฝ่าวิกฤตปิด “เดย์แคร์” กู้ประสิทธิภาพ มนุษย์งานพ่อแม่
วิกฤตโควิด ปิดเนิร์สเซอรี-เดย์แคร์ ทำพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนเครียด งานดร็อป ลาเลี้ยงลูก ผู้นำสหรัฐฯ เร่งอัดฉีดงบฉุกเฉิน ฟื้นศูนย์เด็กที่แพ้ภัยเศรษฐกิจจนต้องเลิกกิจการ ด้านธุรกิจเร่งหาตัวช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวพนักงาน หวังกู้ประสิทธิภาพการทำงาน
หนึ่งในความท้าทายของคนทำงานที่มีลูกน้อยต้องดูแลในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ก็คือ “สถานรับเลี้ยงเด็กปิด” ตามนโยบายของภาครัฐ พ่อแม่ที่ออฟฟิศยังไม่ให้ทำงานจากที่บ้าน จำต้องแบ่งเวลาทำงานไปดูแลลูก
“ตอนแรกที่ลูกเริ่มเรียนออนไลน์ที่บ้าน ฉันคิดว่าง่าย ๆ จัดการได้ แต่พอเอาเข้าจริงเป็นเรื่องยากมาก ฉันต้องลาหยุดดูแลลูก ต้องพลาดประชุมสำคัญเป็นประจำ” Sara Abate Rezvanifar ผู้อำนวยการบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC
มีการสำรวจจากองค์กร American Staffing Association พบว่าพ่อแม่ชาวอเมริกันกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการต้องดูแลลูกที่อยู่บ้านตลอดเวลา และจัดการให้ลูกเรียนออนไลน์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หลายคนรู้สึกว่าตัวเองตามงานไม่ทัน
ส่วนพ่อแม่ที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไร หลายคนพูดตรงกันว่า ถึงจะอยู่บ้าน แต่การจัดการเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไหนจะต้องทำงาน ประชุมออนไลน์ ในขณะที่ลูกเรียกหา ทำให้ต้องเสียจังหวะการงานการประชุม การต้องแบกสองจ็อบในเวลาเดียวกัน ทั้งการดูแลลูกและทำงาน ทำให้พ่อแม่หลายคนอยู่ในภาวะเครียด นอนไม่พอ นอนไม่หลับ จนรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งที่ทำงานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปไหน
ขาดแคลน "เดย์แคร์" ฉุดประสิทธิภาพ พ่อแม่มนุษย์เงินเดือน

สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอ และมีราคาแพงมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งโควิดระบาด สถานรับเลี้ยงเด็กถูกสั่งปิด พ่อแม่ยิ่งลำบากขึ้นอีก โดยเฉพาะคุณแม่ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลลูก ๆ คุณแม่ชาวอเมริกันต้องลดเวลาทำงานตัวเองเพื่อแบ่งมาทำงานบ้านดูแลลูกที่อยู่บ้าน
รายงานเมื่อปี 2019 ของ Council for a Strong America ระบุว่าการขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กในสหรัฐฯ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของชาวอเมริกัน ทำให้สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากกว่า 13,000 ล้านเหรียญต่อปี มีบริษัทเพียงร้อยละ 4 ในสหรัฐ ที่มีสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงาน หรือมีนโยบายช่วยเหลือพนักงานเรื่องการดูแลลูก
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงในสหรัฐฯ สถานรับเลี้ยงเด็กเป็นบริการสาธารณะประเภทแรก ๆ ที่รัฐบาลถูกสั่งปิด แม้ในเวลาต่อมา รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ อนุญาตให้สถานรับเลี้ยงเด็กเปิดได้ตามปกติ แต่หลายแห่งก็ขาดทุนต่อเนื่อง จนต้องปิดตัวถาวรไปเลย
ข้อมูลของ American Progress ระบุว่าปัจจุบัน เด็กกว่า 4.5 ล้านคนในสหรัฐฯ ไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็กรองรับ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน จำต้องรีบประกาศงบประมาณฉุกเฉินอุดหนุนกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กให้ฟื้นตัวโดยเร็ว เพราะรัฐบาลเชื่อว่าถ้ามีสถานรับเลี้ยงเด็กช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ พ่อแม่จะได้กลับไปทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เอกชนเร่งหาตัวช่วยรับภาระลูก ดึงพ่อแม่กลับมาทำงาน
นอกจากการอนุญาตให้พนักงานยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน โดยสามารถบริหารเวลาได้เองแล้ว บริษัทในสหรัฐฯ เริ่มมองหามาตรการเสริมเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ต้องดูแลลูกที่บ้าน
Duolingo บริษัทรับจัดทำเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศ เลือกการว่าจ้างบริษัทดูแลเด็กมาให้คำแนะนำพ่อแม่ และสร้างระบบ Backup Care หรือสถานรับเลี้ยงดูเด็กในกรณีฉุกเฉิน เช่น พ่อแม่มีธุระจำเป็นหาคนฝากเลี้ยงไม่ได้จริง ๆ
ขณะเดียวกัน ก็มีจัดระบบดูแลเด็กออนไลน์ บริษัทที่รับจ้างดูแลเด็ก จะวิดีโอคอลล์คุยกับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็กที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านมีกิจกรรมทำ ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ที่กำลังทำงาน

“พนักงานอยากได้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและอารมณ์สำหรับคนในครอบครัวจากการทำงานที่บ้าน เราเลยร่วมมือกับบริษัทดูแลเด็ก ออกแบบโปรแกรมให้ความรู้และมีกิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็ก ๆ เวลาอยู่บ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้พ่อแม่ที่ต้องทำงานไปด้วย” Jill Wilson ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท Carter บริษัทเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ กล่าว
ด้าน Best buy บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า เพิ่มเงินให้พนักงานเดือนละ 100 เหรียญสหรัฐ เพื่อการดูแลครอบครัว ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับบริษัทดูแลเด็กออนไลน์ Care.com ในการจัดหาพี่เลี้ยง หรือหาคนดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
Tim Allen ซีอีโอของ Care.com กล่าวว่าปัจจุบันมีกลุ่มพ่อแม่มากกว่า 200,000 คนใช้บริการของ Care.com และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทต่าง ๆ พยายามหาทางช่วยเหลือพนักงานที่ต้องทำงานจากที่บ้าน เลยเลือกใช้บริการจัดหาพี่เลี้ยงผ่านทางออนไลน์ให้พนักงาน
“ช่วงโควิดระบาด พ่อแม่ส่วนใหญ่หาเดย์แคร์ให้ลูกไม่ได้ เพราะถูกสั่งปิด พอเดย์แคร์กลับมาเปิดให้บริการ แต่สถานการณ์โควิดยังไม่ค่อยดี การพาลูกไปไปอยู่รวมกันก็มีความเสี่ยงสูง การจัดหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกที่บ้านช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับศูนย์ แต่ก็มั่นใจได้มากกว่า” Tim Allen กล่าว
ที่มา :
www.nytimes.com
www.cnbc.com

Work Life Balance แค่ไหน ในโควิด-19

โควิด-19 แพร่ระบาด กระทบชีวิตของทุกคน ทั้งงาน และชีวิตครอบครัว แต่ละคน แต่ละอาชีพ ต้องมีการปรับตัวอย่างไรกันบ้าง และมีสิ่งที่ดีใดๆ ซ่อนในวิกฤต บ้างหรือไม่
แม่อยากกลับบ้าน

คิดถึงลูกมาก ไม่เคยห่างกันเลยตั้งแต่ตั้งท้อง ลูกสาวหยุดร้องไห้กลางคืนแล้ว แต่จะถามพ่อก่อนนอนทุกคืนว่า อีกกี่วัน แม่ถึงจะกลับบ้าน พ่อต้องตอบคำถามนี้ทุกคืน
จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าว ไทยพีบีเอส ออนไลน์
ชีวิตตอนนี้เหลือแต่งาน ชีวิตครอบครัวแทบจะหายไปเลย เพื่อนร่วมงานติดโควิด เรากลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องมากักตัวที่ Hospitel ที่ กทม.จัดให้สำหรับคนที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ พองานที่ทำเป็นออนไลน์ ที่ออฟฟิศซัพพอร์ตโน๊ตบุ๊กให้มานั่งทำงานไปด้วย รวมทั้งให้ทำคลิปรีวิวชีวิตในช่วงการกักตัวกลับไปด้วยหนึ่งชิ้น (หัวเราะ)
ที่บ้านอยู่กัน 4 คน แม่ สามี และลูกสาว 5 ขวบ พอรู้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ตอนนั้นเครียดมาก เพราะรู้ว่าอยู่บ้านไม่ได้แน่ เราไม่มีห้องที่จะแยกตัวอยู่คนเดียวได้ แต่พอประสานกับ กทม.แล้วเขาช่วยหาที่พักให้ก็หมดห่วง สามีกับแม่สลับกันดูแลลูกได้อยู่แล้ว พอแยกออกมาวันแรก VDO Call คุยกับลูกสาว ลูกไม่เข้าใจเรื่องกักตัว ก็เลยบอกว่าแม่ไปทำงาน แล้วก็ VDO Call คุยกันสามคนวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น
คิดถึงลูกมาก ไม่เคยห่างกันเลยตั้งแต่ตั้งท้อง ลูกสาวหยุดร้องไห้กลางคืนแล้ว แต่จะถามพ่อก่อนนอนทุกคืนว่า อีกกี่วัน แม่ถึงจะกลับบ้าน พ่อต้องตอบคำถามนี้ทุกคืน อีก 2 วันนะคะ เดี๋ยวแม่จะได้กลับไปกอดหนู กลับไปเลี้ยงหนูเหมือนเดิม
ทุกครั้งก่อนพ่อจะเอาของมาให้แม่ มักจะถามลูกว่า อยากเขียนอะไรถึงแม่ไหม? ลูกสาวไปหยิบกระดาษ แล้วให้พ่อช่วยสะกดคำที่อยากเขียนให้ พร้อมวาดรูปแถมมาด้วย
ครั้งแรกที่เห็นจดหมายน้อยนี้ แม่ร้องไห้หนักมาก… ได้แต่บอกพ่อว่า ไม่ให้ลูกเขียนมาเลยจะดีกว่า เห็นข้อความแล้วมันเจ็บจี๊ดที่ใจ ทั้งคิดถึง ทั้งโหยหา และอยากกลับบ้าน

WFH ทำให้เห็นชีวิตแม่ชัดขึ้น
บอกน้องๆ ทุกคนในทีม ว่าถ้ามีธุระส่วนตัว หรือธุระครอบครัว ให้บอกได้เลย ถ้าไม่บอกไว้แบบนี้ เขาอาจจะเกรงใจ เห็นเป็นเรื่องส่วนตัว กลัวว่าลาแล้วจะกระทบงาน ที่จริงงานครีเอทีฟต้องสร้างสรรค์ ถ้าคนทำงานเครียด หรือห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นจะกระทบงานมากกว่า

ตุลาการ ขวัญยืน Production Manager Marketing Communication ช่องวัน 31
WFH ทำให้ใกล้ชิดแม่มากขึ้น ได้เห็นรายละเอียดในชีวิตเขาชัดขึ้น แม่ตื่นกี่โมง นอนกี่โมง กินอะไร วันหนึ่งทำอะไรบ้าง ได้ช่วยแม่รดน้ำต้นไม้ พาเขาไปนั่นนี่
ปกติออฟฟิศกำหนดเวลางาน 10.00-19.00 น. แต่แต่ละทีมจัดกันเองได้ตามความเหมาะสม งานส่วนที่รับผิดชอบอยู่ยืดหยุ่นเวลาได้ เราก็มีเวลาให้ครอบครัวพอสมควร เวลาไปทำงานก็สื่อสารกันตลอด แม่ไลน์มา อยากกินนั่นนี่ ซื้อของให้หน่อย WFH ตอนโควิดรอบแรก แม่ไม่เข้าใจ เห็นอยู่บ้านนึกว่าไม่ได้ทำงาน ก็จะมาชวนคุย ชวนไปซื้อของ ต้องอธิบายว่ากำลังทำงานอยู่
โควิดรอบนี้ ผู้บริหารให้ WFH 100 เปอร์เซ็นต์ ในทีมมี 11 คน งานมีข้อจำกัดอยู่บ้างถ้าต้องทำจากที่บ้าน พยายามปรับงานเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนที่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงานจริงๆ ก็สลับกันเข้า ไม่จำเป็นไม่ต้องเข้า ดูเงื่อนไขของแต่ละคนด้วย เช่น บ้านอยู่ที่ไหน เดินทางอย่างไร อยู่กับครอบครัวไหม ความปลอดภัยของทุกคนสำคัญที่สุด
ตัวเองเป็นคนที่สนิทกับครอบครัว ช่วงที่พ่อป่วย โชคดีมากที่ทำงานเข้าใจ แล้วทีมก็ซัพพอร์ต ทำให้ดูแลพ่อได้อย่างเต็มที่ โดยใช้วิธีทำงานจากข้างนอก ก็เลยบอกน้องๆ ทุกคนในทีมว่าถ้ามีธุระส่วนตัว หรือธุระครอบครัว ให้บอกได้เลย ถ้าไม่บอกไว้แบบนี้ เขาอาจจะเกรงใจ เห็นเป็นเรื่องส่วนตัว กลัวว่าลาแล้วจะกระทบงาน ที่จริงงานครีเอทีฟต้องสร้างสรรค์ ถ้าคนทำงานเครียด หรือห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นจะกระทบงานมากกว่า
VDO Call แทนการกอดกันจริงๆ ไม่ได้

เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาว 5 ขวบ ไม่ได้อยู่กับลูก เพราะต้องทำงานที่กรุงเทพ ให้ลูกเรียนที่เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่และน้องชายช่วยดูแล ที่ผ่านมาคุยกันผ่าน VDO Call ทุกคืนไม่เคยขาด คุยกันทีนึงก็เป็นชั่วโมง มีเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกัน เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง เล่นขายของกัน
เจน ฐิตารีย์ กิตยานพลักษณ์ ช่างภาพอิสระ Lunababy Photography
เป็นช่างภาพ สายงานเฉพาะคือเป็น Newborn and Family Photographer ส่วนใหญ่ถ่ายภาพเด็กแรกเกิดตั้งแต่คุณแม่ยังไม่ออกจากโรงพยาบาล หรือลูกค้าติดต่อให้ไปถ่ายภาพที่บ้าน มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่ช่วง พอมีโควิดเข้ามาก็ยังมีคนติดต่อให้ไปถ่ายที่บ้านอยู่ แต่ต้องแจ้งลูกค้าว่าขอไม่รับช่วงนี้ เพราะเรายังไปถ่ายให้ลูกค้าที่ซื้อแพ็คเกจคลอดในโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทด้วย ไม่รับถ่ายที่บ้านเลย เพื่อจะการันตีตัวเองกับทางโรงพยาบาลได้

ตัวเองเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาว 5 ขวบ ไม่ได้อยู่กับลูก เพราะต้องทำงานที่กรุงเทพ ให้ลูกเรียนที่เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่และน้องชายช่วยดูแล ที่ผ่านมาคุยกันผ่าน VDO Call ทุกคืนไม่เคยขาด คุยกันทีนึงก็เป็นชั่วโมง มีเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกัน เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง เล่นขายของกัน ทุกอย่างผ่านทาง VDO Call ปกติไปหาลูกเดือนละ 2 ครั้ง อยู่ด้วยกันครั้งละ 3-7 วัน ขึ้นกับตารางงานที่ส่วนใหญ่กำหนดเองอยู่แล้ว แต่พอช่วงที่มีโควิดไม่ได้กลับไปหาลูกเลยเกือบ 2 เดือน เพราะที่บ้านมีคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และลูกก็ 5 ขวบ เลยกังวล เพราะโควิดทุกรอบ กรุงเทพเป็นพื้นที่สีแดงตลอด ถึงจะมั่นใจว่าเราป้องกันตัวเองขนาดไหนก็ไม่กล้าเสี่ยง
โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยนี้สะดวกสบาย เลยยังคุยกับลูก เล่นกับลูกได้ทุกวัน แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีก้าวไปถึงขั้นไหน การเห็นหน้าผ่านทาง VDO Call ก็ทดแทนการกอดกันจริงๆ ไม่ได้ รอบที่แล้ว พอโควิดซา สิ่งแรกที่ทำโดยไม่ต้องคิดเลยคือกลับบ้านไปหาลูก ถึงจะกลับได้แค่ 2 วัน แล้วต้องกลับมาทำงานก็ยินดีที่จะบินกลับมา แล้วบินกลับไปหาลูกใหม่ ถ้าเป็นไปได้อยากอยู่กับลูกให้มากที่สุด อยากทำทุกวันให้เป็นความทรงจำที่ดี
ระวังตัวมากที่สุด กลัวเอาเชื้อมาติดลูก

อิทธิศักดิ์ ลีลาเลอเกียรติ พนักงานบริษัท
ลูกชายเกิดตอนช่วงโควิดมาปีที่แล้วพอดี ทำให้กังวลแล้วก็ระวังตัวอย่างที่สุด พอกลับจากทำงานต้องรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนถึงจะมาอุ้มมากอดลูกได้ กลัวจะนำเชื้อมาให้เขาโดยไม่รู้ตัว ส่วนภรรยาทำงานที่ร้านอาหาร เข้างานประมาณสายๆ เสร็จจากงานช่วงค่ำ โชคดีที่อยู่บ้านภรรยาซึ่งมีญาติผู้ใหญ่อยู่ด้วยก็ช่วยดูแลลูกได้ระหว่างที่สองคนไปทำงาน
พอออฟฟิศให้พนักงาน WFH และอนุญาตให้เอาอุปกรณ์การทำงาน ทั้งโน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ สายชาร์จ มาทำงานที่บ้านได้ทั้งหมดเลย เพื่อลดจำนวนพนักงานในการเข้าออฟฟิศ แล้วก็สลับกันเข้าออฟฟิศบ้าง เพราะบางส่วนจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สำนักงานในการทำงาน
ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ 1 เดือนแล้ว ผมทำงานที่บ้าน ก็ฝากคุณย่าเลี้ยง พอช่วงพักเบรคค่อยพาลูกเข้ามาเล่นในห้อง ไม่ค่อยมีปัญหากับการทำงานที่บ้านถึงจะมีเจ้าตัวเล็กอยู่บ้านด้วยก็ตาม
ได้ WFH ถือว่าดีมาก เพราะช่วงก่อนที่จะให้ทำงานที่บ้าน โควิดเริ่มระบาดแล้วยังต้องไปทำงาน ใช้อาคารสำนักงานซึ่งมีคนเยอะ เราไม่รู้ว่าจะมีคนติดโควิดเข้ามาในตึกไหม พอจะกินอาหาร บางร้านก็ปิดตัวไป ร้านน้อย แต่คนเยอะ เวลาพักแค่ชั่วโมงเดียวก็ต้องรีบ เพื่อจะกลับไปทำงานช่วงบ่ายได้ทัน พอเป็นแบบนี้ระวังตัวยาก
WFH พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก

WFH ทำให้พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก ได้เล่นกัน ใช้เวลาด้วยกัน จากที่แม่ต้องเป็นคนกล่อมนอน ตอนนี้ลูกไปนอนกับพ่อได้ เราสบายตัวขึ้น ไม่เหมือนต้องดูแลลูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ลูกค่อนข้างติดพ่อ
อรทัย เต็งพงศธร เจ้าของบริษัท ริชไอเดีย โปรดักชั่น จำกัด
โควิดมา งานยกเลิกทั้งหมด ชีวิตคือการอยู่กับครอบครัวแบบเต็มเวลา ลูกสาว 5 ขวบ สามีเป็นวิศวกรซึ่งบริษัทให้ WFH เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงมานั่งให้สัมภาษณ์แบบนี้ไม่ได้ เพราะลูกเรียกตลอดเวลา ตั้งแต่สามีเริ่ม WFH ปีที่แล้ว เป็น 3 เดือนแรกที่ได้อยู่กันพร้อมหน้านานที่สุด ปกติตัวเองเป็นออร์กาไนเซอร์ งานเกือบทุกอย่างเอาต์ซอร์สได้ ส่วนใหญ่นั่งทำงานที่บ้าน สามีทำงานประจำ มีเวลาอยู่ที่บ้านไม่มาก ลูกก็จะติดแม่
WFH ทำให้พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก ได้เล่นกัน ใช้เวลาด้วยกัน จากที่แม่ต้องเป็นคนกล่อมนอน ตอนนี้ลูกไปนอนกับพ่อได้ เราสบายตัวขึ้น ไม่เหมือนต้องดูแลลูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ลูกค่อนข้างติดพ่อ แต่ก็เรียนรู้ที่จะไม่ไปรบกวนตอนที่พ่อทำงาน มาคอยถามว่าพ่อทำงานเสร็จหรือยัง
ก่อนหน้านี้ตัวเองทำงานประจำ งานเยอะ กลับดึก ตื่นนอนไม่เป็นเวลา เลยมีลูกยากมาก เคยท้องครั้งหนึ่งก็แท้ง จนไปทำกิ๊ฟต์ก็มีปัญหามาก หมอบอกว่าต้องไม่เครียด เพราะจะมีผลกระทบ ก็นึกในใจว่างานแบบนี้ไม่เครียดไม่ได้ ลูกน้อง 30 คน งานเร่ง ต้องทำงานกับคนเยอะ ปัญหาเยอะ จนตัดสินใจลาออกเพื่อตั้งใจจะมีลูกให้ได้ หลังคลอดเป็นจังหวะที่มาทำงานอีเว้นต์ รายได้พอๆ กับงานประจำ แต่เราจัดการเวลาได้ดีกว่า มีเวลาดูแลลูกได้มากกว่า โควิดมาแย่หน่อย ก็เตรียมจะลองดูเรื่องการขายของออนไลน์เพื่อเสริมรายได้ในช่วงนี้