
ราชวิทยาลัยกุมารฯ แนะนำการฉีดวัคซีน สำหรับเด็กและวัยรุ่น
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ระบุวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป อายุ 16-18 ปี ฉีดได้ทุกราย ส่วนเด็ก 12-16 ปี เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง


ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีแผนจัดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนทุกสังกัด ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน เป็นต้นไป

พบกลุ่มวัยรุ่น ติดโควิดเพิ่มขึ้น แนะวิธีป้องกัน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กและวัยรุ่น 12-18 ปี เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หลังพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเผยคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยให้เด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือป่วยมีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนโควิดป้องกันได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม จำนวน 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12
จากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
โดยยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไป ที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี จำนวน 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน–14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งทุกคนเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech โดยก่อนไปรับบริการให้สอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้น ๆ
“ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 ของกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ยังคงต้องยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
2) สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน พร้อมทั้งงดการรวมกลุ่มกับเพื่อน เปลี่ยนเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านระบบออนไลน์แทน
3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
4) ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากพบมีความเสี่ยงสูงให้แจ้งผู้ปกครองทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : กรมอนามัย

ทำอย่างไร ถ้าลูกต้อง Home Isolation
ข้อมูลจากกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 6 กรกฎาคม รายงานผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดเชื้อทั้งหมด 32,829 ราย ส่งผลให้อัตราครองเตียงสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่ในโรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้จนหายสนิท
ผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากมีอาการ
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้าน ผู้ที่มีอาการและตรวจพบเชื้อแล้ว หรือตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการให้แยกตัว 14 วันนับจากมีอาการ หรือตรวจพบเชื้อครั้งแรก กรณีที่ไม่ได้ตรวจหาเชื้อแต่มีความเสี่ยงสูง เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แนะน าให้แยกตัวเองอยู่ที่บ้าน และปฏิบัติตัวเสมือนผู้ติดเชื้อ
แนวทางการแยกตัวที่บ้าน
Home Quarantine หมายถึง การแยกผู้สงสัยว่ามีการสัมผัสเชื้อไวรัส แต่ยังไม่มีอาการ ไม่เคยได้รับวัคซีน ให้แยกกักตัวที่บ้าน 14 วัน
Home Isolation หมายถึง การแยกกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัส สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ จะต้องแยกตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา
10-14 วัน

แยกตัวที่บ้านอย่างไร?
ผู้ที่แยกกักตัวจะต้องอยู่บ้าน รักษาระยะห่างจากผู้อื่นจนพ้นระยะติดเชื้อ สังเกตอาการของ COVID-19 และไม่ให้คนมาเยี่ยมที่บ้าน
ต้องอยู่ห่างจากสมาชิกคนอื่นในบ้านและสัตว์เลี้ยง 6 ฟุต ถ้าสามารถทำได้ ยกเว้นผู้กักตัวด้วยเหตุผลเดียวกัน
ใส่หน้ากากอนามัยหากไม่สามารถรักษาระยะห่าง 6 ฟุตจากผู้อื่น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีปัญหาหายใจลำบาก ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย
ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำ และสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ
แยกนอนในห้องเดี่ยว หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้รักษาระยะห่าง หรือนอนกลับหัวกัน
แยกสิ่งของเครื่องใช้เป็นส่วนตัว
เมื่อเด็กป่วย แต่ผู้ดูแลไม่ติดเชื้อ
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปีแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- ไม่ควรพาเด็กออกไปนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่าง หรือประตูเพื่อให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสเด็ก และจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ 70%
- ไม่รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกัน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ดูแล เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่
มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร - ปิดฝาก่อนกดชักโครกทุกครั้ง ล้างมือให้ถูกวิธีทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ
คำแนะนำในการทำความสะอาดบ้าน

พื้นที่ผิว และเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดร่วมกับใช้ น้ำยาฟอกขาว 1 ฝา ผสมน้ำ 1 ลิตรเช็ดพื้นที่ผิวทั่วไปเป็นเวลา 1 นาที
ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบจับสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ที่จับประตู ราวบันได อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้งตามความจำเป็น
แยกทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนของเด็ก ด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำหรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส
แยกขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น (หากทำได้ ชั้นนอกควรเป็นถุงขยะสีแดง) ติดป้าย “ขยะติดเชื้อ” ราดด้วยน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งใสถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
คำแนะนำการเฝ้าระวังอาการของโรคโควิด
- ควรมีอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการเด็ก ได้แก่ ปรอทวัดไข้, ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว, โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่สามารถถ่ายคลิปอาการของเด็กได้
- ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล), ยาแก้ไอ, ยาลดน้ำมูก, เกลือแร่
- ให้ผู้ดูแลสังเกตอาการของเด็ก วันละ 2 ครั้ง
- อาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตต่อที่บ้านได้ ได้แก่ ไข้ต่ำ น้ำมูก ไอเล็กน้อยแต่ไม่หอบเหนื่อย ถ่ายเหลว แต่กินอาหารหรือนมได้ปกติ ไม่ซึม
- อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาล ได้แก่ หายใจเหนื่อย อกบุ๋ม ปากเขียว (กรณีมีอุปกรณ์อาจใช้วิธีถ่ายคลิปได้) ออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า หรือเท่ากับ 96% (กรณีมีที่วัด) ซึม ถ่ายเหลวอาเจียนมาก กินไม่ได้ ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
คำแนะนำการดูแลรักษาตามอาการ
ถ้ามีไข้ ให้ทานยาลดไข้ และเช็ดตัวลดไข้
ถ้ามีอาการไอ น้ำมูก ให้รับประทานยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูกได้ และดื่มน้ำมาก ๆ
ถ้ามีอาการถ่ายเหลว ให้รับประทานน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
ที่มา : เว็บไซต์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

วิธีลดความเสี่ยงโควิด เมื่อไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก
กรมอนามัย ระบุการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่มีโรคประจำตัว ต้องเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดี ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 พร้อมย้ำพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุมเข้มตนเอง ลดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่ลูก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 25 กรกฎาคม 2564 พบมี เด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ 13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน โดยพบว่าเด็กทั้ง 2 รายที่เสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว และเริ่มมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีคำแนะนำดังนี้
1) ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดี ในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม
2) แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
3) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
4) แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ให้แก่เด็กในทุกวัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
5) แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียน โดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต
“การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก เว้นห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนี้
เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหาร ผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร
หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณี และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน
ทั้งนี้ หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก หายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที