
ฟังให้ถึงใจ “ลูกวัยรุ่น”
“พูดให้น้อยฟังให้มาก” คือคาถาสำคัญสำหรับการเป็นพ่อแม่ยุคนี้ ที่มีลูกเป็นวัยรุ่น
พ่อแม่ต้องเปลี่ยนคำถามว่า“จะสอนลูกอย่างไรดี” มาเป็น “จะฟังลูกอย่างไรดี”
การฟังที่ดีไม่ใช่แค่ได้ยินสิ่งที่ลูกพูด แต่คือการรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ลูกอาจจะไม่ได้พูดลูกมีความคิดความเชื่อ กำลังรู้สึกอย่างไร และกำลังต้องการอะไร
แล้วต้องฟังแบบไหน? เรื่องนี้ถือเป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกฝน
12 เทคนิคฟังลูกให้อยู่หมัด
1. เคลียร์งาน คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่งานล้นมือ ไหนจะต้องหารายได้ทำงานบ้าน บางทีก็มีสมาชิกหลายคนในครอบครัวให้ต้องดูแล พ่อแม่หลายคนจึงมักจะทำหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน แต่การฟังลูกหมายถึงหยุดทำอย่างอื่น แล้วตั้งใจฟัง เพื่อให้ลูกเห็นว่า สำหรับพ่อแม่แล้ว ลูกคือคนสำคัญที่สุด
2. เคลียร์ใจ จะเข้าไปนั่งในใจลูกได้ ต้องวางความคิดความเชื่อ และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงก่อน อย่าเพิ่งคิดเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง อยู่กับลูก และฟังสิ่งที่ลูกกำลังพูดเท่านั้น
3. ใช้สติ ถ้าลูกหลานกำลังเผชิญปัญหาและต้องการที่พึ่ง พ่อแม่ยิ่งต้องแสดงความสงบและมั่นคงให้ปรากฏ ถ้าพ่อแม่แตกตื่นตกใจ โวยวาย ฯลฯ เด็กจะเสียขวัญ และรู้สึกว่านอกจากช่วยไม่ได้แล้วเรื่องอาจจะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่เล่าดีกว่า แล้วเขาจะไม่กลับมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือซ้ำอีก
4. ภาษากาย ใช้ให้เป็นการสื่อสารด้วยภาษากายที่ชัดเจน อย่าล่อกแล่กมองนั่งมองนี่ ทำท่าว่ามีเรื่องอื่นที่ต้องสนใจมากกว่า สบตาลูกแต่อย่าจ้องเหมือนจะจับผิด พยักหน้า เออ ออ ตามความเหมาะสม
5. ฟังให้จบก่อน ทำใจว่างๆอย่าเพิ่งด่วนคิด ตัดสินใจ ว่าสิ่งที่ลูกพูด จริงหรือไม่จริง ดีหรือไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่าเพิ่งพูดแทรก ไม่ชิงถาม ถึงจะดูเป็นการฝืนธรรมชาติของผู้ใหญ่ที่มักจะรู้สึกว่า“ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” ก็จงพยายาม และอย่าลืมว่าถึงจะเป็นเรื่องเดียวกับที่เราเคยเจอ แต่ลูกโตมาอีกยุค มีประสบการณ์อีกแบบ เรื่องเดียวกันลูกอาจจะคิดไม่เหมือน มองต่างจากพ่อแม่ก็ได้ ฉะนั้น ฟังต่อไปให้จบ
6. ช่างสังเกต ฝึกสังเกตสีหน้า แววตา ท่าทาง น้ำเสียงภาษากายของลูกหลานขณะที่พูดคุย หลายเรื่องเด็กอาจไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์มาเยอะควรฟังและมองให้ออก ว่าจริงๆ แล้ว เด็กกำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร
7. ทวนเนื้อหา ทวนซ้ำสิ่งที่เด็กพูดเพื่อตรวจสอบว่าเข้าใจตรงกัน โดยใช้ภาษาของเราเอง ไม่ใช่พูดซ้ำสิ่งที่เด็กพูด ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจและใส่ใจในสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง
8.ถามเพื่อความเข้าใจ ถ้าตรงไหนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจหรือไม่ชัดเจน ให้ลองถาม หรือขอให้เด็กอธิบายเพิ่มเติมจะได้ไม่เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน
9. สะท้อนความรู้สึก คำว่า “ดูเหมือนว่า” “คล้าย ๆ ว่า”หรือคำพูดที่บ่งบอกถึงแนวโน้ม ดีกว่าตัดสินว่าเด็กต้องรู้สึกแบบนั้นแบบนี้อยู่แน่ๆเพราะเป็นการเปิดช่องว่างให้เด็กสามารถอธิบายต่อได้ เช่น “ดูเหมือนว่าลูกรู้สึกไม่สบายใจที่เพื่อนพูดแบบนี้ใช่หรือเปล่า”
10. สรุปเรื่องราว สรุปความคิดและความรู้สึกของลูกที่เรารับรู้จากการได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดเพื่อให้เด็กได้มองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น
11. พึ่งได้ บางเรื่องสำหรับวัยรุ่นอาจเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก พูดไม่ออกบอกไม่ถูก บางทีฟังแล้วงง ตกลงจะเอาอะไรแน่ การแสดงให้เด็กเห็นว่าเราพร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกปัญหาที่เขากำลังเผชิญ จะช่วยให้ไปต่อได้ง่ายขึ้น “ลูกอยากได้คำแนะนำหรือเปล่าว่าควรจะทำยังไงดีหรือแค่อยากเล่าให้พ่อฟังเฉยๆ”
12. อย่าออกตัวแรง ใช้ความสุขุมสงบ เยือกเย็นเข้าไว้ ถึงฟังแล้วจะอินตาม เข้าข้างลูกเต็มที่ แต่การแสดงออกแบบสุดตัวก็มีความเสี่ยงเพราะถ้าเกิดคดีพลิกขึ้นมา อาจทำให้ต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าลูกทะเลาะกับเพื่อนแล้วคุณแม่เชียร์เต็มที่ ช่วยกระหน่ำซ้ำเติมอีกฝ่าย พอวันรุ่งขึ้น เด็กสองคนดีกัน คุณแม่ก็จะดูไม่ดีอาจจะอึดอัดกันไปทั้งสองฝ่าย
วัยรุ่นต้องการเป็นตัวของตัวเองต้องการอิสระ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ฉะนั้น การแนะนำ สั่งสอน บอกให้ทำ มีประโยชน์น้อยมาก เพราะเด็กจะไม่เชื่อ และอาจกลายเป็นการก่อกำแพงปิดกั้นความสัมพันธ์รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน อยากท้าทาย
การฟัง และช่วยตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กได้ทบทวนความคิดความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง รวมทั้งได้คิดและมองในมุมที่เด็กอาจจะยังคิดไปไม่ถึง จะทำให้เด็กเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ควรทำ หรือไม่ควรทำ ดีกว่าการที่พ่อแม่เอาแต่สั่งสอนตลอดเวลา ซึ่งวัยรุ่นจะต่อต้าน ไม่เชื่อไม่ยอมทำตาม และวิธีนี้ยังดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว
การสร้างสรรค์เนื้อหาโดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เคล็ดลับ คุยให้ได้ใจลูกวัยรุ่น
ก่อนหน้านี้ลูกน่ารัก เชื่อฟัง ช่างคุย เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไร ลูกเปลี่ยนไป พ่อแม่พูดไม่ค่อยจะฟัง ถามก็ไม่ค่อยตอบวัน ๆ เอาแต่ก้มหน้าดูมือถือ แล้วก็เข้าห้องปิดประตู
ฟังแล้วรู้ทันทีเจ้าของปัญหาคือพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น และปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่ลูกเป็นวัยรุ่น เพราะการเป็นวัยรุ่นคือความเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์
วัยรุ่นยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องเผชิญความท้าทายรอบด้านพวกเขาจึงต้องการคำปรึกษาชี้แนะ รวมทั้งการประคับประคองปลอบใจถ้าเกิดเหตุพลั้งพลาด
ประเด็นอยู่ที่ “การสื่อสาร” ซึ่งจะทำให้พ่อแม่รู้ได้ว่าตอนนี้ลูกกำลังมีปัญหาอะไรต้องการความเหลือหรือเปล่า แต่จะทำได้แบบนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจ รวมทั้งใช้วิธีการที่เหมาะสมซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวิธีที่แตกต่างจากที่เคยใช้ตอนลูกยังเป็นเด็กๆ
คาถาชนะใจวัยรุ่น
เมื่อโจทย์ข้อแรกคือลูกไม่คุยด้วย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกำลังมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า
ลองมาดูเคล็ดลับการคุยกับลูกวัยรุ่นซึ่งจะเป็นกุญแจดอกแรกสู่ “โลกของลูก” กันดีกว่า
1. คำถามสร้างสรรค์
วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาต้องการคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง คำสั่งสอน ประโยคสั่งการแบบที่พ่อแม่เคยใช้มาตลอดวันนี้ใช้ไม่ได้ผล
วิธีที่เหมาะกับวัยรุ่นมากกว่าคือการใช้ “คำถาม” การถามถูกที่ ถูกเวลา จะได้ผลดีกว่าสั่งสอน ยัดเยียดความคิดซึ่งวัยรุ่นจะไม่ยอมรับง่ายๆ อย่างแน่นอน
คำถามสำคัญอย่างไร
- กระตุ้นให้คิดก่อนจะตอบ ลูกต้องคิด การถามถึงข้อดี-ข้อเสีย จะทำให้ลูกได้เปรียบเทียบ เรียบเรียงเรื่องราวก่อนจะตอบรวมทั้งฝึกคาดการณ์ผลที่จะติดตามมา
- ไม่เชื่อง่ายมองให้รอบด้านการตั้งคำถามจะฝึกลูกให้ตั้งข้อสงสัย คิดรอบด้านมากขึ้นสนใจรายละเอียดของเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ได้ฝึกเชื่อมโยง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ อย่างไร ลูกจะได้ไม่หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกได้ง่าย ๆ
- กระชับความสัมพันธ์ ถ้าพ่อแม่ตั้งคำถามได้ดีชวนลูกคุยจนเกิดความคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ใส่ใจ ให้ความสนใจในเรื่องที่ลูกสนใจและเข้าใจในตัวลูก
คำถามที่ดีคือ “คำถามเปิด” ซึ่งให้อิสระที่ลูกจะเล่าเรื่องราว ได้สำรวจความคิดของตัวเองได้เปิดเผยตัวเองกับพ่อแม่ “คำถามปิด” ที่ตอบได้แค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ฟังแล้วให้อารมณ์เหมือนกำลังถูกสอบสวน
2. เป็น “นักฟัง” ที่ดี
พูดให้น้อย ฟังให้มาก คือคาถาสำคัญสำหรับการเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแสดงออกอยากได้การยอมรับ อยากให้มีคนรับฟัง
พ่อแม่หลายคนอาจจะบอกว่าก็รอฟังอยู่ทุกวันลูกไม่เห็นพูดอะไร ถ้าเจอแบบนี้ อาจต้องทบทวนเรื่องราวแต่หนหลัง ที่ผ่านมาพ่อแม่ตอบรับเรื่องเล่าและความคิดเห็นของลูกอย่างไรฟังแล้วตัดสินทันทีว่าเรื่องที่ลูกเล่าดีหรือไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ แล้วตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนหรือชิงเล่าเรื่องราววีรกรรมในอดีตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
การฟังที่ดีไม่ใช่แค่ได้ยินสิ่งที่ลูกพูด แต่คือการรับรู้ในสิ่งที่ลูกอาจจะไม่ได้พูดลูกมีความคิดความเชื่อ กำลังรู้สึกอย่างไร และกำลังต้องการอะไร
3. เติมกำลังใจให้พลังบวก
วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ พวกเขากำลังค้นหาเส้นทางของตัวเอง อะไรใช่หรือไม่ใช่ อะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ การตำหนิห้ามปราม ประชดประชัน ใช้ไม่ได้ผลสำหรับวัยรุ่น จะทำให้เกิดการต่อต้าน หรือท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่
คำพูดเชิงบวก ช่วยเสริมพลังในการทำสิ่งที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันพฤติกรรมเชิงลบ และยังกระตุ้นให้ลูกเห็นสิ่งที่ดีในตัวเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเสริมความเชื่อมั่น กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ และสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ฉะนั้น แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาลองหันมาสนับสนุนและชื่นชมเมื่อลูกทำดี
การชื่นชม แทนที่จะไฮไลต์ตรงความสำเร็จ “ยอดเยี่ยมเลยลูก เกรดเทอมนี้” แต่ขยับคำชมมาที่ความมุ่งมั่น “ที่ลูกตั้งใจเรียนมาทั้งเทอมมันยอดเยี่ยมจริง ๆ” ลูกจะรู้ว่าความสำคัญอยู่ที่ความมุมานะพยายาม ซึ่งเราลงมือทำได้ ส่วนผลลัพธ์นั้น บ่อยครั้งเราควบคุมไม่ได้ดังนั้น ความภูมิใจจึงอยู่ที่ว่าเราได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้วต่างหาก
4. ศิลปะแห่งการตำหนิ
ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่มีใครอยากถูกตำหนิดุว่าถึงจะยอมรับได้ก็เสียใจอยู่ดี แถมด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก ยิ่งถ้าไม่ยอมรับฉันไม่ผิด ก็จะเถียงอยู่ในใจ โกรธเคือง เสียความรู้สึก สะเทือนความสัมพันธ์กับคนที่มากล่าวหา
ความไม่พอใจ พ่อแม่สื่อสารได้แบบไม่สะเทือนอารมณ์ลูกโดยการบอกถึงความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นให้ลูกได้รับรู้ แทนที่จะพูดว่า“ทำไมลูกถึงกลับบ้านดึกแบบนี้ ไม่รู้หรือยังไงว่ามันอันตราย” พอเปลี่ยนเป็น“พ่อแม่เป็นห่วงมากนะที่ลูกกลับบ้านดึก เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า” แบบนี้ค่อยน่าฟังน่าคุยด้วย ดูเป็นทีมเดียวกันขึ้นมาหน่อย
5. “ขอบคุณ”และ “ขอโทษ”
พ่อแม่หลายคนไม่เคยขอบคุณลูกคำขอบคุณจะทำให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่เขาทำให้พ่อแม่นั้นเป็นสิ่งที่ดี มีความสำคัญพ่อแม่มองเห็น และชื่นชม
ทุกคนทำผิดกันได้พ่อแม่ก็เช่นกัน การที่พ่อแม่พูดคำว่า “ขอโทษ” ลูกจะเรียนรู้ว่า ถ้าทำผิดเราควรยอมรับผิด ขอโทษ แล้วทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว

งานบ้าน สร้างลูก
รับผิดชอบ มีวินัย อดทน พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนอยากให้ลูกหลานมีคุณสมบัติเหล่านี้กันทั้งนั้น แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เคล็ดลับของเรื่องนี้อยู่ที่ “งานบ้าน”
การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานบ้านอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เป็นการฝึกลูกได้ดีที่สุด นอกจากความรับผิดชอบ มีวินัย อดทน ละเอียดรอบคอบแล้ว เด็ก ๆ ยังได้รู้จักการวางแผน ลงมือทำ รู้จักการแก้ปัญหา และเห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
แต่จะทำให้งานบ้านเป็นเครื่องมือเสริมสร้างคุณลักษณะดีๆ ในตัวลูกได้ ก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย
งานบ้าน งานมีคุณค่า
มีข้อควรคิด ก่อนจะลงมือสร้างการเรียนรู้ให้ลูกด้วยงานบ้าน
- งานบ้านไม่ใช่ภาระ พ่อแม่ต้องทำให้เด็กๆ เชื่อมั่นว่างานบ้านเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์ ดังนั้น การทำงานบ้านให้เสร็จจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพ่อแม่เองก็เบื่องานบ้านเสียแล้วก็คงยากที่จะปลูกฝังความเชื่อนี้ให้กับลูกได้ ฉะนั้น พ่อแม่เองก็ต้องเห็นคุณค่าของงานบ้าน และลงมือทำอย่างมีความสุข
- งานบ้านคู่การเรียน อุปสรรคที่ทำให้เด็กไทยเสียโอกาสเรียนรู้จากงานบ้าน คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งคิดไปว่าหน้าที่สำคัญของคนวัยเรียนก็คือเรียน ที่จริง นอกจากความรู้แล้ว อีกปัจจัยความสำเร็จด้านการงาน คือคุณลักษณะจำเป็นหลายประการ ที่งานบ้านช่วยสร้างให้เกิดขึ้นได้
- งานบ้านไม่ใช่ของ “แม่” และ “ลูกสาว” ถ้างานบ้านเป็นโอกาสสำหรับการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตและความเจริญก้าวหน้าด้านการงาน ลูกชายก็ไม่ควรเสียโอกาสในเรื่องนี้ คุณพ่อก็เช่นกัน

งานบ้าน ที่เหมาะกับลูก
งานบ้านจะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้ลูกได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูว่างานบ้านแบบไหนที่เหมาะสมกับวัยและศักยภาพของลูก
เด็กวัยนี้อยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการเลียนแบบผู้ใหญ่ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้เด็กๆ ช่วยได้ เช่น การเก็บที่นอน เก็บของเล่นให้เรียบร้อย การทำความสะอาดห้องนอนง่ายๆ ปัดกวาดเช็ดถู เอาเสื้อผ้าใช้แล้วไปไว้ในตะกร้า ให้อาหารน้องหมาน้องแมว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกให้ทำไปพร้อมๆ กัน ช่วงแรก เด็กอาจยังทำได้ไม่เรียบร้อยมากนัก ค่อยๆ ฝึกไป แล้วค่อยปล่อยให้ลูกทำเอง
เก็บที่นอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยพ่อแม่ซักผ้าตากผ้า รดน้ำต้นไม้ ลูกจะได้เรียนรู้การเติบโตของต้นไม้ ช่วยจัดโต๊ะอาหาร หรือเริ่มฝึกการทำอาหารในขั้นตอนง่ายๆ ไม่เสี่ยงอันตราย จัดกระเป๋าไปโรงเรียนเอง โดยพ่อแม่ช่วยดูตารางสอน
เด็กอายุเท่านี้ สามารถพับผ้าห่ม ปูเตียงให้ตึง วางหมอนไว้ที่หัวเตียงให้สวยงาม ซักผ้า ตากผ้า ฝึกรีดผ้า หัดทำอาหาร โดยพ่อแม่คอยสังเกตจนกว่าลูกจะใช้ของมีคมได้เก่งขึ้น สอนให้ลูกล้างจาน โดยอาจเริ่มจากจานชาม แก้วพลาสติก แล้วค่อยยกระดับเป็นแก้วน้ำและจานกระเบื้อง จัดกระเป๋านักเรียนเอง
เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสระ อยากตัดสินใจและทำอะไรด้วยตัวเอง อาจเกิดข้อท้าทายเรื่องการดูแลโต๊ะทำงาน ห้องนอน มุมส่วนตัว ฯลฯ ว่านี่เป็นของของลูก ฉะนั้น ลูกมีสิทธิตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร พ่อแม่อย่าทนไม่ได้แล้วกระโจนลงไปทำให้ แต่ถือเป็นโอกาสที่จะชี้ให้ลูกเห็นถึงความสำคัญในการดูแลใส่ใจและรับผิดชอบคนรอบข้าง เช่น ทำความเข้าใจกับลูก ว่าถึงจะเป็นพื้นที่ของลูก แต่บ้านเป็นของทุกคน ยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด การดูแลข้าวของให้สะอาดเป็นระเบียบจะลดความเสี่ยงให้คนในบ้าน โดยเฉพาะคุณย่าคุณยาย และน้องเล็ก รวมทั้งไม่เป็นต้นตอแพร่เชื้อในประเทศ เป็นต้น
เทคนิคชวนลูก (ทุกช่วงวัย) ทำงานบ้าน
1. ชื่นชม เมื่อลูกทำดี หลีกเลี่ยงการสื่อสารเชิงลบ ที่จะทำลายทั้งการเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. สร้างทีมครอบครัว ช่วยกันทำ คนสำราญ งานสำเร็จ
3. ระงับความหงุดหงิดขัดใจ ถ้าผลงานที่ออกมาไม่น่าพอใจ ให้ดูว่าลูกลงมือทำเต็มที่แล้ว ถือว่าจบ
4. ให้ลูกได้คิดเองทำเองบ้าง ลูกอาจมีวิธีที่แตกต่างจากที่พ่อแม่เคยทำ ให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก
5. ให้ลูกได้ทำงานบ้านที่เหมาะกับวัย เพราะถ้ายากเกินไป ลูกจะท้อถอย และพลอยเบื่องานบ้านไปเลย
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว