
แนะหญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิด-หวัดใหญ่ เน้นเว้นระยะให้เหมาะสม
เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ให้หญิงตั้งครรภ์ สร้างภูมิคุ้มกันแก่แม่เเละเด็กตั้งแต่ในครรภ์
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งเป้า “1 เดือน 1 แสนราย” เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม 2564 เร่งเพิ่มจำนวนฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ จากปัจจุบันมีได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 5 หมื่นกว่าราย จาก 5 แสนราย
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งระดมฉีดให้วัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง “608” ประกอบไปด้วย กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขพบว่า นับตั้งแต่เมษายนจนถึงปัจจุบัน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์มีอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 2.26 หรือ เมื่อติดเชื้อแล้วพบว่ามีอาการรุนแรง ส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากแม่ จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการเริ่มระดมฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ผ่านช่องทางศูนย์บริการฉีดวัคซีน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และในท้องถิ่น อาทิ รพ.สต. หรือ คลินิกฝากครรภ์ ที่จะได้รับการจัดสรรควัคซีนลงไปเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่แม่และเด็กในครรภ์ รวมถึงภูมิคุ้มกันจะสามารถส่งผ่านการให้นมบุตรอีกด้วย
“นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังขอเชิญชวนให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งฉีดชนิดใดก่อนก็ได้แต่ต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้ โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่หน่วยบริการในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ทั้ง รพ.รัฐ/ รพ.สต./ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

ราชวิทยาลัยกุมารฯ แนะนำการฉีดวัคซีน สำหรับเด็กและวัยรุ่น
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ระบุวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป อายุ 16-18 ปี ฉีดได้ทุกราย ส่วนเด็ก 12-16 ปี เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง


ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีแผนจัดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนทุกสังกัด ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน เป็นต้นไป

พบกลุ่มวัยรุ่น ติดโควิดเพิ่มขึ้น แนะวิธีป้องกัน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กและวัยรุ่น 12-18 ปี เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หลังพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเผยคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยให้เด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือป่วยมีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนโควิดป้องกันได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม จำนวน 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12
จากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
โดยยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไป ที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี จำนวน 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน–14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งทุกคนเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech โดยก่อนไปรับบริการให้สอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้น ๆ
“ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 ของกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ยังคงต้องยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
2) สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน พร้อมทั้งงดการรวมกลุ่มกับเพื่อน เปลี่ยนเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านระบบออนไลน์แทน
3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
4) ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากพบมีความเสี่ยงสูงให้แจ้งผู้ปกครองทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : กรมอนามัย

วิธีลดความเสี่ยงโควิด เมื่อไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก
กรมอนามัย ระบุการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่มีโรคประจำตัว ต้องเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดี ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 พร้อมย้ำพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุมเข้มตนเอง ลดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่ลูก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 25 กรกฎาคม 2564 พบมี เด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ 13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน โดยพบว่าเด็กทั้ง 2 รายที่เสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว และเริ่มมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีคำแนะนำดังนี้
1) ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดี ในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม
2) แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
3) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
4) แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ให้แก่เด็กในทุกวัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
5) แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียน โดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต
“การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก เว้นห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนี้
เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหาร ผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร
หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณี และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน
ทั้งนี้ หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก หายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที

กลุ่มบริษัทเคซีจี จัดฉีดวัคซีนให้พนักงาน-ครอบครัว-กลุ่มด้อยโอกาส
เคซีจี จัดฉีดวัคซีนให้พนักงานและครอบครัว พร้อมมาตรการตรวจหาเชื้อต่อเนื่อง- Work From Home 100% รวมทั้งดูแลพนักงานที่พบการติดเชื้อ พร้อมแบ่งปันวัคซีนให้กลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาล
ตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดูแลพนักงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ การฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงทุกกลุ่มคนในสังคมอย่างเท่าเทียม ถือเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดหาวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัว รวมถึงแบ่งปันวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้ประเทศสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ด้วยเร็ว
“การจัดสรรวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัวพนักงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายมาตรการในการดูแลพนักงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทางเรามีการดำเนินการเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานที่ทำงานทุกสาขา มีมาตรการ Work From Home เต็มรูปแบบ สนับสนุนอุปกรณ์ตามมาตรฐานการรักษาสุขอนามัยสากล เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ และมีการเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE)”

สำหรับพนักงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เคซีจีมีการจัดซื้อประกันภัย ร่วมกับตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้แก่พนักงานทุก 10 วัน โดยหากพบว่ามีการติดเชื้อ ทางบริษัทฯ จะประสานงานกับหน่วยงานภายนอกหาสถานพยาบาลเพื่อรับพนักงานเข้าทำการรักษา รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ยังชีพสำหรับพนักงานที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล

นอกจากนี้ เคซีจียังมอบผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายในเครือ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งจัดโครงการ “KCG x GON จุดไฟปรุงฝัน” สนับสนุนการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนไทยที่ว่างงาน ทั้งเด็กจบใหม่ คนตกงาน หรือพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายอิมพีเรียล และอลาวรี่ ปัจจุบันเป็นกลุ่มบริษัทในเครือเคซีจี (KCG Corporation) ที่เป็นการควบรวมของธุรกิจในเครือทั้ง 9 แห่งเข้าด้วยกันในปี 2557

จีนจัดลำดับใหม่ กลุ่มเป้าหมาย ฉีดวัคซีนโควิด-19
หลายมณฑลและเขตปกครองตนเองในจีน เริ่มปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากนโยบายเดิม เน้นวัยทำงาน - ผู้สูงอายุ - เด็กและเยาวชน โดยหลายพื้นที่ หันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยเรียนเพิ่มขึ้น หลังพบความเสี่ยงที่เด็กและวัยรุ่น จะมีอาการรุนแรงหลังติดเชื้อ และยังมีส่วนสำคัญในการแพร่เชื้อในชุมชน
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งมณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีการปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้
โดยคาดว่าจะแบ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กและเยาวชนหลายระยะตามกลุ่มอายุ ตั้งแต่นักเรียนที่ใกล้จบการศึกษา ไปจนถึงนักเรียนกลุ่มที่เพิ่งเข้าเรียน โดยตั้งเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กลับกลุ่มเด็กและเยาวชนครบสองโดสในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณศุขของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน จากนั้นจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มอายุ 12-14 ปีในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะเสร็จสิ้นแผนการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเยาวชนภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้
แผนฉีดวัคซีนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จะครอบคลุมนักเรียนส่วนใหญ่ ในโรงเรียนประถม มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องอ่านแบบฟอร์มยินยอมโดยละเอียด และลงนามยินยอมก่อนที่เด็กจะเข้ารับวัคซีน รวมทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องอยู่กับเยาวชนระหว่างการรับวัคซีนด้วย
คณะกรรมการสุขภาพของกว่างซี ระบุว่า จะมีการเปิดสายด่วนให้คำปรึกษา เพื่อตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 12-17 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนฉีดวัคซีนของกว่างซีจ้วงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
หน่วยงานด้านสาธารณสุขเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ระบุว่า จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็กและเยาวชนอายุ 12-17 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ส่วนคณะกรรมการสุขภาพนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เตรียมจะวิจัยและร่างแผนฉีดวัคซีนให้เยาวชนอายุ 12-17 ปี
เจิ้งฮุ่ยเจิน หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคแห่งสมาคมยาเพื่อการป้องกันแห่งมณฑลกว่างตง กล่าวว่า ขณะที่จีนดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยลำดับกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนเริ่มจากผู้ใหญ่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน แต่มณฑลและเขตปกครองตนเอง เริ่มมีการจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และปัจจัยแวดล้อมอื่น
“แม้ว่าเด็กและวัยรุ่นจะมีอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ไม่สูงนัก หรือไม่แสดงอาการเลย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ นอกจากนี้เด็กและวัยรุ่นยังมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในชุมชน” เกาเฉียง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนเซส จำกัด กล่าว
ปัจจุบัน แผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขนานใหญ่ของจีน มุ่งฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศไปแล้วเกือบ 1.44 พันล้านโดส
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน จีนอนุมัติการใช้งานกรณีฉุกเฉิน วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี

พบกลุ่มตั้งครรภ์-หลังคลอด เสี่ยงสูง สั่งดูแลพิเศษ ลดอาการรุนแรง เสียชีวิต
กรมอนามัย เผยข้อมูล หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 พบอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ทารกติดเชื้อ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย วาง 8 ขั้นตอน โรงพยาบาล-คลินิก ดูแลเป็นพิเศษ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 3 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 581 ราย เสียชีวิต 9 ราย ทารกติดเชื้อ 40 ราย และเสียชีวิต 4 ราย
โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ คลอดก่อนกำหนดได้
ส่วนทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีโอกาสคลอดกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ จึงขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาลและคลินิกฝากครรภ์มีแนวทางให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ดังนี้
1) ให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด–19 ต่อหญิงตั้งครรภ์
2) เมื่อตัดสินใจฉีดวัคซีนแล้วให้พิจารณาว่าไม่มีข้อห้าม ในการฉีดและผู้รับบริการมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์
3) ให้หญิงตั้งครรภ์ลงชื่อในแบบคัดกรองและใบยินยอมในการรับวัคซีน
4) มีการตรวจครรภ์ตามปกติจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
5) ส่งตัวหญิงตั้งครรภ์พร้อมแบบคัดกรองและ ใบยินยอมรับบริการวัคซีนโควิด–19 เพื่อไปรับวัคซีน ณ จุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้
6) พยาบาลห้องฝากครรภ์ประสานจุดฉีดวัคซีนแจ้งจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ไปรับวัคซีน กรณีวัคซีนไม่เพียงพอให้ทำการนัดหมายกำหนดวันต่อไป
7) เมื่อหญิงตั้งครรภ์ไปถึงจุดฉีดวัคซีนให้เข้าช่องทางพิเศษสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่จุดบริการวัคซีนจัดไว้ หลังจากนั้นผ่านจุดคัดกรอง ฉีดวัคซีน และสังเกตอาการตามระบบ และ
8) นัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โดยแจ้งให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการไม่พึงประสงค์ อีกทั้งทุกหน่วยบริการให้วัคซีนแก่หญิงตั้งครรภ์ต้องติดตามและรายงานข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์และผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีนแล้วด้วย
“ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรมีวิธีปฏิบัติและดูแลตนเองเป็นพิเศษ โดยสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็นเมื่อต้องไปฝากครรภ์ ไม่ไปในที่ ที่มีคนหนาแน่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก สะอาด และครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าวหรือแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน โดยขอให้เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย