
เดินหน้า Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่น ปลอดโควิด-19
ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการ Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่นคน ปลอดโควิด19 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด19
สำหรับการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ 3.อาหาร และ 4.อุปกรณ์การแพทย์ โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญคือ
1.ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1) สถานแยกกักตัว (Factory Isolation: FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแล ดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

เบื้องต้น ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันได้จำนวน 9.2 หมื่นคน
นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน
นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการ Factory Sandbox นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ
1) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท
2) ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
4) รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ

เจาะ 5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย WFH สนุก มีประสิทธิภาพ
5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย สร้าง Happy Digital Workplace เน้นสะดวก ดูแลสุขภาพกาย-ใจ รักษาความสัมพันธ์ เติมทักษะต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กลายเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้สำหรับหลายคน
LINE ประเทศไทย มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace
1. ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
2. ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
3. ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
4. ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
5. การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย


เตรียมวัคซีน 6 ล้านโดส ให้ผู้ประกันตน ม.33

กระทรวงแรงงาน - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมหารือเรื่องการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 จำนวน 6 ล้านโดส สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 9 จังหวัดเศรษฐกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะ ร่วมหารือในการเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนโควิด – 19 แก่ผู้ประกันตน ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแผนการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระยะแรก จำนวน 6 ล้านโดส โดยแยกเป็นเดือนมิถุนายน จำนวน 1.5 ล้านโดส ฉีดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เดือนกรกฎาคม จำนวน 4.5 ล้านโดส ฉีดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1.5 ล้านโดส และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจอื่น 3 ล้านโดส
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานครไว้ จำนวน 45 จุด โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล เภสัชกรของโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 20 แห่ง เป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมอุปกรณ์และฉีดวัคซีน และได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฉีดวัคซีนไว้พร้อมแล้ว
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการเร่งลงทะเบียนผ่านระบบ Web – Service โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ประสงค์จะฉีดวัคซีนมากถึง 80% ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมมั่นใจว่า จะช่วยลดความแออัดการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล และจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

เอกชนสหรัฐฯ หนุนพนักงาน-ครอบครัว ฉีดวัคซีนโควิด-19

ภาครัฐ-ธุรกิจในสหรัฐฯ ร่วมมือออกมาตราการจูงใจกลุ่มพนักงานที่ต้องพบปะลูกค้าให้ฉีดวัคซีน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พร้อมป้องกันผลกระทบต่อธุรกิจกรณีพนักงานติดเชื้อ และเสริมความเชื่อมั่นให้ผู้มาใช้บริการ บางบริษัทจัดให้ครอบครัวพนักงานด้วย เชื่อมั่นเป็นวิธีที่จัดการความเสี่ยงได้ดีที่สุด
“ผมอยากกลับไปเจอนักเรียนนะ อยากกลับไปสอน งานคือทุกสิ่งในชีวิต แต่ผมจะไม่ฉีดวัคซีน”
เสียงคุณครูในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา สะท้อนมุมมองคนอเมริกันจำนวนหนึ่งได้เป็นอย่างดี
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณครูได้ให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อกับสำนักข่าว LA Times ว่า เขาเข้าใจดีว่าการฉีดวัคซีนมีความสำคัญ แต่ก็ไม่อยากฉีดอยู่ดี
สังคมอเมริกันให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ แม้แต่เรื่องวัคซีนก็กลายเป็นข้อถกเถียง มีกลุ่มแอนตี้ วัคซีน (Anti Vaxxers) ที่เชื่อว่าวัคซีนทุกชนิดทำให้ร่างกายยิ่งผิดปกติ เช่น ออทิสติกในเด็ก กลุ่มนี้มักจะเคลื่อนไหวประท้วงเป็นระยะ ซึ่งก็รวมถึงวัคซีนโควิดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในวันนี้
คุณครูบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นพวกต่อต้านการฉีดวัคซีน แต่รู้สึกว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจ
ปัจจุบัน ชาวอเมริกันราว 1 ใน 4 “ลังเล” ที่จะฉีดวัคซีน เพราะมองว่าวัคซีนออกมาเร็วเกินไป ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทดลองอย่างรอบคอบรอบด้าน
เสริมมาตรการภาษี ธุรกิจหนุนลูกจ้างรับวัคซีน
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ฉีดในสหรัฐฯ มากที่สุดคือวัคซีนของ Pfizer รองลงมาคือ Moderna และ Johnson & Johnson ตามลำดับ
ในเดือนเมษายน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่าสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนได้ครบ 200 ล้านเข็ม ทำให้ปัจจุบัน ประชากรสหรัฐเกือบครึ่งประเทศได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่วางใจ ด้วยข้อมูลที่ว่า จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมได้ ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 70 ต้องได้รับวัคซีนครบโดส
ประธานาธิบดีไบเดน เรียกร้องให้บริษัทเอกชนสนับสนุนให้พนักงานบริษัทไปฉีดวัคซีนโดยเร็ว เช่น การจ่ายเงินให้แม้จะลาหยุดเพื่อไปฉีดวัคซีน หรือลาหยุดจากอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน ไบเดนยังช่วยลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทขนาดเล็ก พนักงานไม่เกิน 500 คน ที่จ่ายเงินให้พนักงานในวันที่ลาไปฉีดวัคซีน
ดูแลทั้งครอบครัว ชัวร์ที่สุด
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรงประเภทหนึ่งคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอาหารสด โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะต้องเจอลูกค้าที่มาซื้อของทุกวัน และลูกค้าบางรายก็ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย
ตัวเลขทางการระบุว่า แรงงานในธุรกิจร้านขายอาหารสดมีจำนวนถึง 1.3 ล้านคน ติดเชื้อไปแล้วกว่า 30,000 ราย และเสียชีวิตไปมากกว่า 130 คน
พนักงานจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ทางกรมควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐ มีคำแนะนำว่าบริษัทสามารถจัดหาวัคซีนด้วยการติดต่อสถานบริการสุขภาพในชุมชนให้มาฉีดวัคซีน ได้ทันที พร้อมทั้งเรียกผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน
เอกชนในภาคธุรกิจค้าปลีกอาหารสด จึงรีบจัดโครงการกระตุ้นให้พนักงานไปฉีดกันยกใหญ่ หนึ่งเพื่อความปลอดภัยของพนักงานเอง สองเพื่อความมั่นใจสำหรับลูกค้า ว่าจะไม่ติดโควิดจากพนักงาน
เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่อยู่หน้าร้านและต้องเผชิญความเสี่ยงทุกวัน ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Kroger, Albertsons, Publix, Costco เข้าร่วมโครงการขององค์กรเภสัชกรรมสหรัฐฯ เพื่อรับวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง จากนั้นก็จะนำไปฉีดให้พนักงาน
ซูเปอร์มาร์เกตอย่าง Aldi และ Walmart ให้สิทธิพนักงานลาหยุดแบบไม่หักค่าแรก เพื่อไปฉีดวัคซีน และลาหยุดหากมีอาการข้างเคียง ส่วน Instacart ซูเปอร์ที่มีบริการส่งสิงค้า ให้เงินโบนัส 25 เหรียญสำหรับพนักงานที่ไปฉีดวัคซีน 1 ครั้ง ขณะที่ Kroger ก็เกทับด้วยการมอบเงินโบนัสให้พนักงานที่ฉีดครบ 2 เข็มไปเลย 100 เหรียญ
บางบริษัท เช่น บริษัทผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์สำเร็จรูป Tyson Foods ที่มีพนักงานกว่า 40,000 คน อนุญาตให้พนักงานสามารถพาสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่อาศัยในบ้านเดียวกันมาฉีดวัคซีนที่บริษัทจัดหาให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
องค์กรด้านเนื้อสัตว์แปรรูปในสหรัฐฯ ระบุว่าการจัดฉีดวัคซีนให้ครอบครัวของพนักงาน ถือเป็นการสร้างหลักประกันทางธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะนอกจากลดความเสี่ยงที่พนักงานจะติดเชื้อโควิดจนต้องหยุดงาน และแพร่เชื้อแก่เพื่อนร่วมงานแล้ว ยังลดภาระที่พนักงานต้องลางาน กรณีมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยอีกด้วย
สร้างแรงจูงใจ แต่ไม่บังคับ
การสนับสนุนให้พนักงานไปฉีดวัคซีน มีส่วนช่วยให้ตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ สูงขึ้นได้จริง แต่ก็มีลูกจ้างบางรายมองว่าเป็นการบังคับที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า พนักงานมีสิทธิปฏิเสธไม่รับการฉีดได้ถ้ามีข้อจำกัดด้านสุขภาพ หรือขัดกับความเชื่อทางศาสนา ส่วนบริษัทมีหน้าที่หาเหตุผล ต่อรอง และประเมินความเสี่ยงของบริษัทจากการที่พนักงานไม่ฉีดวัคซีน รวมถึงหามาตรการรองรับ เช่น ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือปรับรูปแบบการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน พร้อมไปกับการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจ