
WFH เทรนด์ใหม่ในญี่ปุ่น Work Life ไม่ Balance

โควิด-19 เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น หลายบริษัทปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ จำนวนหนึ่งเลือก Work Life Balance แต่อีกจำนวนมากยังยืนยันจะเข้าออฟฟิศ เพราะกลัวว่าถ้าไม่อยู่ในสายตาหัวหน้า แล้วจะมีผลกับการประเมินเงินเดือน/ตำแหน่ง
วินาทีที่ โออุโนะ ทาคาฮิโระ รับแจ้งจากฟูจิตสึ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ว่าได้บรรจุเข้าทำงาน แทนที่จะดีใจ โออุโนะ กลับรู้สึกวิตกกังวล เพราะตำแหน่งงานที่ได้ต้องไปประจำสาขาที่โตเกียว แต่บ้านของเขาอยู่จังหวัดอื่น โออุโนะ ไม่อยากแยกจากครอบครัวไปอยู่ตามลำพัง
เมื่อบริษัทบอกว่าเขาสามารถทำงานจากที่บ้านต่างจังหวัดได้ โออุโนะก็โล่งใจ และขอบคุณนายจ้างที่ให้โอกาสเขาได้เลือกรูปแบบการทำงานด้วยตัวเอง โออุโนะเข้าใจดีว่าความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการงานคือสิ่งสำคัญ และคนอื่นก็อาจไม่ได้โชคดีเหมือนเขา
ฟูจิตสึ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เต็มรูปแบบ ปีนี้ บริษัทจ้างพนักงานใหม่ 15,000 คน และอนุญาตให้พนักงานใหม่ทั้งหมดทำงานจากที่บ้านได้ ปัจจุบัน พนักงานของฟูจิตสึมากกว่า 80,000 คนทำงานจากที่บ้าน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลดพนักงานที่เข้าออฟฟิศลงให้เหลือแค่ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2565
"ทำงานจนตาย" วัฒนธรรมการทำงานของสังคมญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปัจจุบัน ยังมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีซูงะ โยชิฮิเดะ ขอความร่วมมือให้บริษัทห้างร้านทั้งหลายปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความแออัดและการแพร่เชื้อ
การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากที่ทำงานเป็นที่บ้าน เป็นการพลิกวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องการเข้า-ออกงาน การที่พนักงานต้องนั่งทำงานในออฟฟิศให้เจ้านายเห็นเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น การอยู่ในออฟฟิศสะท้อนความทุ่มเทในการทำงานและความภักดีที่มีต่อบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินผลงานและการเลื่อนตำแหน่งในภายภาคหน้า
วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน หนักหน่วง และมีความเครียดจนถึงระดับ “คาโรชิ” (Karoshi) หรือการตายจากการทำงาน วัฒนธรรมนี้ยังปิดกั้นโอกาสการทำงานของผู้หญิง เพราะเมื่อแต่งงานและมีลูก ผู้หญิงต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปกับการดูแลลูกและครอบครัว การลาหยุดเวลาที่ลูกป่วยหรือมีธุระฉุกเฉินถือเป็นเรื่องต้องห้ามของบริษัท ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องลาออกจากงาน และกลายเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว
การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทจำยอมปรับตัวครั้งใหญ่ ผลสำรวจล่าสุด พบว่าบริษัทขนาดเล็กและกลางกว่าร้อยละ 80 เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ เหลือบริษัทขนาดใหญ่แค่ไม่กี่แห่ง เช่น ฟูจิตสึ ฮิตาชิ ที่เพิ่งจะเริ่มมีมาตรการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน
สัญญาณ New Normal กำลังมา
โคบายาชิ ยูจิ นักวิจัยจากสถาบัน Persol Research and Consulting บอกว่า ถึงแม้บริษัทจะอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้าน แต่พนักงานส่วนใหญ่ไม่กล้าเลือกทางที่ทำให้ตัวเองมี Work Life Balance เพราะกลัวว่าการทำงานของตัวเองจะไม่เข้าตานายจ้าง
บริษัทใหญ่ๆ บางแห่งยังมองว่า พนักงานควรเข้าออฟฟิศ เพราะต้องทำงานเป็นทีม ด้วยเชื่อว่าการทำงานจากที่บ้านไม่มีทางสร้างทีมเวิร์กได้
พนักงานวัย 32 ที่ทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวบอกว่า บริษัทอนุญาตให้ทำงานได้จากที่บ้านได้ แต่ต่อมาเขาพบว่าเจ้านายจะมอบหมายงานสำคัญให้กับคนที่เข้าออฟฟิศเท่านั้น สุดท้ายตนเลยต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศตามเดิม เพราะไม่อยากถูกมองข้าม
ปัจจุบัน มีเพียงพนักงานราวร้อยละ 25 เท่านั้นที่เลือกทำงานจากที่บ้าน แม้เป็นตัวเลขที่ต่ำ แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลายก็เห็นถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ New Normal ของสังคมญี่ปุ่น
ล่าสุด หน่วยงานรัฐบาลกำลังพยายามยกเลิกการใช้แฟกซ์ และตราประทับเอกสาร เพราะต้องการผลักดันการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ
บริษัทฟูจิตสึ มีแผนการขยายระบบไอทีและเครือข่ายภายในบริษัทเพื่อรองรับการทำงานที่บ้านของพนักงาน ด้วยแนวคิดว่า การอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทให้สูงขึ้น
โฆษกของบริษัทบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน น่าจะช่วยให้คุณผู้ชายทั้งหลายหัดดูแลลูกและทำงานบ้านแทนภรรยาเสียบ้าง
ในทางกลับกัน หลายคนเชื่อว่า การทำงานจากที่บ้านและมี Work Life Balance น่าจะช่วยให้ผู้หญิงญี่ปุ่นสามารถทำงานได้มากขึ้นด้วย
ที่มา :
https://www.reuters.com/
https://asia.nikkei.com/
https://www.fujitsu.com/

สิงคโปร์กับ “เงินทุน” ปรับที่ทำงานให้เป็นมิตรกับครอบครัว

รัฐบาลสิงคโปร์เดินหน้านโยบาย สร้าง Work Life Balance จัดเงินอุดหนุนบริษัทเอกชน เพื่อปรับการทำงาน เพิ่มความเป็นมิตรกับครอบครัวพนักงาน บริษัทบัญชีคว้าเงินทุน สร้างวัฒนธรรมองค์กรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้ WFH เพื่อการดูแลลูกเล็ก พร้อมจัดพื้นที่สำหรับลูกหลานพนักงานในวันที่ต้องมาอยู่ที่ทำงานกับพ่อแม่
ตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มต้นนโยบายจัดเงินอุดหนุนที่ใช้ชื่อว่า WorkPro เพื่อสนับสนุนให้บริษัทที่ต้องการดำเนินนโยบาย Work Life Balance ให้กับพนักงาน โดยเงินดังกล่าวจะต้องนำไปใช้พัฒนาการทำงานภายในบริษัทที่เอื้อให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่น และสร้างบริษัทที่มีความเป็นมิตรกับครอบครัวของคนทำงาน
ตัวอย่างของ บริษัท 3E Accounting บริษัทด้านการจัดทำบัญชี ที่เชื่อว่าการมีนโยบายที่มองความสมดุลในการจ้างงานและชีวิตส่วนตัว จะช่วยให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสามารถดึงศักยภาพพนักงานได้ดีที่สุด
บริษัทฯ มีพนักงาน 35 คน ครึ่งหนึ่งมีภาระเลี้ยงดูลูก ส่วนรายที่ยังไม่มีลูก ก็ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว บริษัทเห็นว่าถ้ามีส่วนช่วยให้พนักงานดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น พนักงานจะสามารถทำงานได้อย่างเป็นสุข
วิธีการสำคัญ ได้แก่ “การสร้างความเป็นทีม” เช่น เมื่อมีพนักงานคนหนึ่งมีธุระ คนอื่นจะยินดีช่วยเหลือ และเมื่อถึงคราวที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือบ้าง คนที่เคยได้รับความช่วยเหลือก็จะช่วยเหลือเป็นการตอบแทน บริษัทฯ มีการสื่อสารให้พนักงานเห็นว่า บริษัทให้คุณค่ากับพนักงานที่มองเห็นประโยชน์ของทีมและพร้อมจะดูแลช่วยเหลือเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ
3E มีการนำเทคโนโลยี VPN มาช่วยให้พนักงานติดต่อสื่อสารแบบเครือข่ายภายในองค์กรได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ละคนได้รับสิทธิในการดึงข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลส่วนกลางได้ ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา
สำหรับพนักงานที่มีลูกหรือเด็กที่ต้องดูแล ก็ให้ทำงานอยู่บ้านได้ ทำให้สามารถดูแลลูกได้สะดวก หรือถ้าพาลูกมาที่ทำงาน ทางบริษัทก็จัดกิจกรรมต่างๆ ไว้รองรับ เช่น Bring Your Family to Work Day และ Eat With Your Family Day เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีนโยบายสนับสนุนการดูแลครอบครัวให้กับพนักงาน



นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ ใช้หลักการไตรภาคีในการดูแลลูกจ้างแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน องค์กรด้านการค้า และองค์กรนายจ้างสิงคโปร์ร่วมลงนามกันตั้งแต่ปี 2006 เพื่อวางมาตรฐานการทำงานที่มีสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน และมี Work Life Balance โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของทั้งบริษัทและตัวพนักงาน
มาตรฐานฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ อาทิ หลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานสูงอายุ ไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานอิสระหรือสัญญาจ้างชั่วคราว รวมถึงหลักการทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง และสิทธิในการลาหยุดเพื่อทำธุระในการดูแลครอบครัวในยามฉุกเฉิน
ส่วนนโยบายเงินอุดหนุน WorkPro สำหรับบริษัทที่ต้องการพัฒนาระบบการทำงานเพื่อให้มีความยืดหยุ่น และสร้างให้เป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อครอบครัว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. เงินสนับสนุนบริษัทที่จ้างงานผู้สูงวัย อุดหนุนเงินให้บริษัทที่จ้างงานพนักงานอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีระบบฝึกอบรมช่วยเหลือตรงกับความต้องการของพนักงานสูงวัย
2. เงินสนับสนุนออกแบบการทำงานที่เอื้อต่อคนทุกวัย สนับสนุนการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือการทำงาน และจัดรูปแบบการทำงานที่เอื้อต่อคนสูงวัย
3. เงินสนับสนุน Work Life สนับสนุนสร้างระบบที่เอื้อต่อการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างระบบการแบ่งงานเพื่อลดภาระงานหนักของพนักงานบางส่วน
ที่มา :
https://www.3ecpa.com.sg/
https://www.mom.gov.sg/