
SC ตั้ง ศูนย์พักคอย Company isolation รองรับบุคลากร-ครอบครัว กลุ่มสีเขียว
SC Asset จัดตั้ง “SC Care Center” ศูนย์พักคอย Company Isolation รองรับบุคลากรกลุ่มสีเขียว ทางรอดวิถีใหม่ เพื่อร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19
ศิริกุล เกรียงไกร รองหัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากปัจจุบันภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการรอเตียงเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงมุ่งหวังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียในสังคม
โดยได้จัดตั้ง SC Care Center เพื่อดูแล ‘บุคลากร’ หัวใจสำคัญและกลไกในการขับเคลื่อนองค์กร ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ทั้งลูกค้า คู่ค้า และพาร์ตเนอร์ผู้รับเหมา”
“SC Care Center” ศูนย์พักคอย Company Isolation ได้จัดตั้งตามมาตรฐานสุขอนามัย ณ บริเวณศูนย์ฝึกอบรม Able Academy ของบริษัทฯ เพื่อดูแลพนักงานและครอบครัว โดยจะรับดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ เพื่อลดการสัมผัสบุคคลในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อมากที่สุด โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลในคู่สัญญา ทำหน้าที่ติดตามอาการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้มาตรการดูแลอย่างเคร่งครัดทั้งในด้านระบบสาธารณสุขและมาตรการด้านความปลอดภัย
ที่สำคัญคือ การควบคุมการเข้า-ออกอย่างเข้มงวดสูงสุด เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน พร้อมกับจัดเตรียมเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม ชุดยาสามัญ Care Kit และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และ ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เพื่อดูแลตลอดระยะเวลาการรักษา

ส่วนอีกหนึ่งมาตรการเชิงป้องกันในโครงการ คือ บริษัทจะมีการตรวจ Antigen Kit Test เป็นประจำทุก สัปดาห์ สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่สำนักงานขายโครงการบ้าน ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียมรวม 60 โครงการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้มาเยี่ยมชมโครงการ
ศิริกุล กล่าวว่า “ภายใต้นโยบาย CEO เรื่องความยั่งยืนและการดูแลสังคมใกล้องค์กร บริษัทได้มีการสั่งวัคซีน booster เข็ม 3 และ 4 เพื่อเตรียมฉีดให้พนักงาน SC Asset และครอบครัวประมาณไตรมาส 4 เป็นต้นไป เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน”


ส่องมาตรการ โรงงานพื้นที่สีแดง สกัดโควิด-19
ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด ลดความเสี่ยงคลัสเตอร์โรงงาน ฉีดวัคซีนให้พนักงาน-คนในครอบครัว พร้อมจัดทำศูนย์พักคอย 108 เตียง รองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจติดเชื้อ
ดร.พิพัฒน์ โกวิทคณิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด จำกัด บริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียม ที่มีการดำเนินงานมาเกือบ 30 ปี เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพ ที่เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจเป็นผลให้พนักงานทั้งที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเป็นคลัสเตอร์โรงงาน ซิมเมอร์ฯ จึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ระบาด ด้วยการเตรียมพร้อมดูแลพนักงานให้ห่างไกลจากความเสี่ยงมากที่สุด เพราะไม่เพียงแค่พนักงานจะปลอดภัย แต่โรงงานก็สามารถไปต่อได้เช่นกัน
โดยสิ่งแรกที่กำหนดให้เป็นมาตรการหลักที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน ด้วยระบบวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ, การตรวจเชิงรุก 100% อย่างต่อเนื่อง (ATK), สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ทั่วทั้งโรงงาน และเว้นระยะห่าง งดการรวมกลุ่มพูดคุยในเวลารับประทานอาหารกลางวัน

เตรียมศูนย์พักคอย เพื่อพนักงานและครอบครัว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรงและปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการเพียงทั่วไปจึงไม่ครอบคลุมความเสี่ยงได้มากพอ การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด จึงเป็นอีกแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ
“การได้รับวัคซีนคือทางออกเดียวที่จะลดอัตราการเจ็บป่วยหนักและสูญเสีย เราเชื่อว่าหากพนักงานได้รับวัคซีนเร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงได้ อีกนัยหนึ่งสายการผลิตก็ไม่ต้องหยุดชะงัก โรงงานก็ไปต่อได้”
ทางบริษัทซิมเมอร์ฯ จึงได้จัดสรรให้พนักงานทั้งหมด 682 คน ได้รับการฉีดวัคซีนคิดเป็น 100% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากพนักงานแล้ว ยังรวมไปถึงครอบครัว คนใกล้ชิดของพนักงาน ผู้ร่วมงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับวัคซีนมากกว่า 1,500 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกัน มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตรวจเชิงรุกด้วยชุด ATK ในทันที กรณีพนักงานมีความเสี่ยง ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เมื่อตรวจพบจะมีการกำหนดให้หยุดงานกักตัว 14 วัน โดยไม่มีการหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง พร้อมให้การดูแลระหว่างการรอเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “กรณีที่พนักงานติดเชื้อ เราได้จัดทำถุงยังชีพ อาหารและยารักษาโรค สำหรับการหยุดกักตัว และพักรักษาตัวที่บ้านหรือ รอเข้าสู่กระบวนการรักษา”
บริษัท ยังมีการจัดทำศูนย์พักคอยที่วิทยาลัยการอาชีพเสนา จำนวน 108 เตียง เพื่อรองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจได้รับการติดเชื้อ
“สภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ ความใส่ใจ ห่วงใย เสมือนเป็นน้ำใจหนึ่งเดียวที่จะเยียวยาจิตใจและเติมพลังให้ครอบครัวซิมเมอร์ฯ ก้าวเดินร่วมกันต่อไปได้อย่างแข็งแรง แม้ดูแล้วหนทางการต่อสู้ครั้งนี้จะอีกยาวไกล แต่ด้วยสิ่งที่ครอบครัวซิมเมอร์ฯ มอบให้กันและกัน ย่อมทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันอย่างไม่ยากเลย” ดร.พิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย


กทม.ตั้งเป้า เปิดศูนย์พักคอย 20 แห่ง แยกผู้ป่วยโควิดจากครอบครัว-ชุมชน
กทม. เปิดศูนย์พักคอย รอการส่งต่อ 6 เขต แยกผู้ป่วยจากครอบครัว-ชุมชน เข้าระบบดูแลเบื้องต้นจากแพทย์-พยาบาล ตั้งเป้าครบ 20 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ 3,000 คน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครดำเนินการเปิดศูนย์พักคอย รอการส่งต่อ ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยตั้งเป้าให้ครบ 20 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ 3,000 คน เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชนได้แยกกักตัว ลดปัญหาการระบาดในครอบครัวและชุมชน และให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการดูแลเบื้องต้นโดยทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที
โดยขณะนี้ได้เปิดศูนย์พักคอยแล้ว 8 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต คือ
1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร รับผู้ป่วยได้ 120 เตียง
2.กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ได้แก่ วัดอินทรวิหาร (อาคารปฏิบัติธรรม) เขตพระนคร รับผู้ป่วยได้ 200 เตียง
3.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ได้แก่ วัดสะพาน เขตคลองเตย รับผู้ป่วยได้ 250 เตียง
4. วัดปากบ่อ เขตสวนหลวง รับผู้ป่วยได้ 140 เตียง
5.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตหนองจอก รับผู้ป่วยได้ 100 เตียง
6.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ได้แก่ วัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย รับผู้ป่วยได้ 90 เตียง
7.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ได้แก่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) เขตบางแค รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง
8. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รับผู้ป่วยได้ 120 เตียง โดยขณะนี้ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยทยอยเข้าพักแล้ว จำนวนกว่า 500 คน

และในวันที่ 13 กรกฎาคม จะเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 3 แห่ง ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ เขตจตุจักร รับผู้ป่วยได้ 180 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง เขตดอนเมือง รับผู้ป่วยได้ 150 เตียง
สำหรับการคัดเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยนั้น กรุงเทพมหานครได้พิจารณาโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ การเดินทางเข้า-ออกหากมีเคสฉุกเฉิน โดยสำนักงานเขตพื้นที่ได้ปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและมีองค์ประกอบครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบสื่อสารภายในกับผู้ป่วย และการกำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับความปลอดภัยสูงสุด


