
Top 5 สวัสดิการครอบครัว 2022
เขียน : ลลิตา ไวสินิทธ์ธรรม
ร้อยทั้งร้อย ไม่มีบริษัทไหนอยากเห็นพนักงานลาออก ยิ่งพนักงานมากประสบการณ์ มีศักยภาพสูง การลาออกก็ยิ่งถือเป็นความสูญเสีย เราจึงเห็นองค์กรต่าง ๆ สรรหาสารพัดวิธีการและสวัสดิการมาสร้างความผูกพันในองค์กร
น่าแปลก ที่ความพยายามเหล่านั้น มักจะไม่ครอบคลุมการลาออกเพราะ “เหตุสุดวิสัย” อย่างการออกไปดูแลพ่อแก่แม่เฒ่า หรือการลาออกไปเลี้ยงลูก ทั้ง ๆ ที่นับวัน จำนวนคนที่จะลาออกจากงานประจำด้วยเหตุผลเหล่านี้ดูจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม
แต่ก็มีที่ทำงานที่พลิกบทบาทเข้ามาช่วยพนักงานดูแลคนในครอบครัวอย่างเป็นระบบ อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจขมวดคิ้วด้วยความสงสัยว่า จริงเหรอ? บทความนี้จะช่วยแจงให้เห็นว่า ที่จริงแล้ว นโยบายเหล่านี้ไม่ได้แปลกใหม่ หรือไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด
ในหลายประเทศ นโยบายแบ่งเบาภาระครอบครัวให้คนทำงาน เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว และไม่ใช่แค่ทำเพราะกฎหมายกำหนด เพราะเมื่อบรรทัดฐานของหลายสังคม คือการเห็นคุณค่าของคนทำงานในฐานะมนุษย์ที่มีความหลากหลาย การนำเสนอสวัสดิการแบบ “จัดหนัก” และ “สร้างสรรค์” จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของหลายบริษัท
นอกจากนี้ เมื่อในทุก ๆ ปี มีการจัดอันดับสถานที่ทำงานที่โดดเด่นด้านสิทธิประโยชน์ให้กับคนมีครอบครัว (Parents at the Best Workplaces™) ก็ยิ่งกระตุ้นให้องค์กรแข่งขันกันอย่างดุเดือด เราจึงจะชวนไปดู 5 สวัสดิการติดท็อป ขวัญใจคนทำงานกัน
1. welcome สมาชิกใหม่ - ครอบครัวมีตั้งหลายแบบ
ข้อนี้หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี สำหรับสวัสดิการ “ลาคลอดบุตร” ของหลายประเทศ ที่กฎหมายกำหนด 90 วันสำหรับผู้คลอด และ 15 วันสำหรับคู่สมรส โดยอาจได้เงินเดือนครึ่งหนึ่ง หรือบางส่วน
แต่หลายบริษัทคิดว่า ให้น้อยเกินไปหรือเปล่า!
เราจึงได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ให้พนักงานหญิงชายได้ลาหยุดถึงหนึ่งปี โดยรับเงินเดือนเต็มจำนวน นอกจากนี้ ไม่ว่าจะสมาชิกใหม่จะเกิดจากการคลอดเอง อุ้มบุญ หรือรับเป็นลูกบุญธรรม ก็ได้สวัสดิการเดียวกันเป๊ะ ๆ
หลายบริษัทชื่อดังมีแนวทางเดียวกันในการให้สวัสดิการที่รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม ไม่ว่าจะเป็น อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (American Express), กูเกิ้ล (Google), เฟซบุ๊ก (Facebook) ฯลฯ โดย อะโดบี (Adobe) เจ้าของโปรแกรมตัวท็อปอย่างโฟโต้ช็อป ให้เหตุผลที่สรุปได้ว่า
“ในเมื่อครอบครัวพนักงานมีความหลากหลาย ทั้งอายุ เพศ ความต้องการ และมีสถานการณ์ทางบ้านที่แตกต่างกัน การสนับสนุนพวกเขาโดยไม่แบ่งแยก ต้องคุ้มค่าอยู่แล้ว”

2. คงจะดี ถ้ามีคนช่วยดูแลเจ้าตัวเล็ก
พ้นจากช่วงลาคลอด ก็ต้องคิดอีกว่าจะกระเตงลูกไปนั่งทำงานด้วยดี หรือจะฝากเนิร์สเซอรีดี เป็นปัญหาคิดไม่ตก เพราะจะฝากก็คิดถึงลูก กว่าจะได้เจอก็หลังเลิกงาน ครั้นจะเลี้ยงไปทำงานไป ก็น่าจะไม่ไหว ทำอย่างไรดี
โชคดีที่หลายบริษัทมองเห็นความกังวลนี้ และเปิดศูนย์รับดูแลเด็กในบริษัทเสียเลย เช่น บริษัทบริการวิเคราะห์ข้อมูล SAS หรือบริษัทการเงิน Prudent ที่เปิดบริการดูแลลูกให้พนักงาน พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่าย บางบริษัทนอกจากจะจัดห้องให้นมบุตรให้แล้ว ยังออกค่าขนส่งนมแม่ให้ด้วยถ้าแม่ลูกอยู่คนละพื้นที่
ส่วนในช่วงโควิดที่ผ่านมา จะเห็นการปรับตัวขององค์กรอย่าง Citi ที่ช่วยเป็นศูนย์กลางค้นหาพี่เลี้ยงและแหล่งเรียนรู้ให้ลูก ๆ ของพนักงาน หรือบริษัท Intel โรงแรมเครือฮิลตัน และแบงก์อ็อฟอเมริกา ที่ช่วยออกค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กให้พนักงานที่ทำงานจากบ้าน รวมถึงค่าสมาชิกศูนย์การเรียนต่าง ๆ และเพิ่มให้อีกสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เรียกว่าปลดภาระจากบ่าพ่อแม่ไปได้มากทีเดียว
3. ปรับตารางงาน ลดเดินทาง-เพิ่มวันหยุด
ภารกิจของพ่อแม่ที่ต้องไปรับไปส่งลูกจากโรงเรียน เตรียมอาหาร สอนการบ้าน พาลูกไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย บริษัทช่วยได้ โดยการปรับตารางงานให้สอดคล้องกับตารางชีวิตใหม่ของพนักงานที่เป็นพ่อแม่
ตัวอย่างบริษัทสหรัฐฯ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี พีแอนด์จี (Procter & Gamble) และ เจนเนอรัล มิลส์ (General Mills, Inc.) ซึ่งมีนโยบายช่วยพนักงานปรับชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการ เช่น
– ยกเว้นการตอกบัตรเข้าออกงานตามเวลาไว้ชั่วคราว
– ลด-ปรับจำนวนชั่วโมงลง
– ให้เลือกเพิ่มงานในวันธรรมดา เพื่อให้ได้วันหยุดสุดสัปดาห์เพิ่ม
– ใช้การสื่อสารออนไลน์เพื่อทำงานทางไกล
ที่สำคัญ ปรับชั่วโมงการทำงานแล้วต้องปรับความคิดด้วย ว่าองค์กรจะให้คุณค่ากับอะไร ระหว่างคุณภาพของงาน หรือจำนวนชั่วโมงที่ทำ ซึ่งตัวแทนทีมบุคคลจากสตูดิโอ Milk ที่ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำและศิลปินระดับโลกมากมาย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำงานได้มีประสิทธิภาพตอนเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นเหมือนกันหมด ..บริษัทที่ไม่ปรับตารางการทำงานให้มีความยืดหยุ่นก็จะเสี่ยงขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะเสียคนเก่ง ๆ ไป
4. พ่อแก่แม่เฒ่า แต่ไม่เหนื่อยสองเท่า
คนไม่มีลูกก็ใช่ว่าจะไม่มีภาระทางบ้าน โดยเฉพาะเมื่อสังคมทั่วโลกล้วนก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ คนวัยทำงานต้องรับบทหนักในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ทั้งค่าใช้จ่ายเอย หมอนัดเอย นัดพบสถานดูแลเอย และอีกสารพัดภารกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเครียดและประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นมุมที่ผู้ประกอบการมักมองข้ามไป แต่จริง ๆ แล้วมีหลายอย่างที่ทำแล้วช่วยพนักงานได้
ในหลายมลรัฐของสหรัฐฯ ตอนนี้มีมาตรการให้พนักงานสามารถใช้วันลาป่วยของตัวเองได้ปีละ 40 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องไปดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยหรือบาดเจ็บ และยังมีทางเลือกการลาแบบไม่รับค่าจ้างได้ 12 สัปดาห์
ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตการ์ดจอชั้นนำ NVIDIA และบริษัทสื่อ NBCUniversal ที่ช่วยดูแลทั้งการวางแผนและเรื่องค่าใช้จ่าย หรือหลายบริษัทที่มีการจัดอบรม ให้บุคลากรระดับผู้จัดการมีความเข้าใจสถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุ และเสริมการช่วยเหลือด้วยการให้ข้อมูลหรือช่องทางทางออนไลน์
นอกจากนี้ หลายบริษัทยังมีสวัสดิการให้พนักงานเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยาในกรณีที่เกิดความเครียด และมีแผนที่จะขยายแนวทางให้ครอบคลุมคนทำงานที่ต้องดูแลญาติที่ไม่ใช่พ่อแม่ เช่น ลุงป้าที่เลี้ยงดูมา หรือพี่น้องที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนบริษัทที่ช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานที่ต้องลาดูแลพ่อแม่ ด้วยการให้ลดหย่อนภาษีประจำปี เรียกว่าเป็นวิน-วิน โซลูชั่น พนักงานลดความเครียด ลดภาระ มีเวลาทุ่มเทกับงานได้มากขึ้น ส่วนบริษัทได้คนมีประสบการณ์ทำงานต่อเนื่อง ได้ลดหย่อนภาษี และที่สำคัญคือ ได้ใจพนักงานไปเต็ม ๆ

5. การสื่อสาร กุญแจกุมใจยุค Work From Home
จากสี่ข้อที่ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าแนวทางการดูแลพนักงาน มาจากการเล็งเห็นปัญหาหรือความลำบาก แต่ปัญหาของพนักงานคืออะไร บริษัทจะช่วยอย่างไรดี ส่งที่เข้ามาเติมเต็มจุดนี้ได้คือ การสร้างช่องทางการสื่อสาร
หนึ่งในสิ่งที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ว่าได้ผลดี ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ การสร้างช่องทางให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การตั้งกลุ่มภายในองค์กรสำหรับพนักงานที่มีลูก หรือพนักงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
จากประสบการณ์ของแผนกบุคคลบริษัท PROS Holdings พบว่า เมื่อมีการพูดคุย ให้คำปรึกษากันและกัน จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและสร้างบรรยากาศของความเป็นห่วงเป็นใยกันนอกเหนือจากเรื่องงานด้วย
อีกเรื่องไม่ยากที่บริษัทสามารถทำได้ และเป็นผลดีกับทุกคน คือ การสื่อสารที่ชัดเจนทั้งเรื่องงาน เรื่องกรอบเวลา เช่น เมื่อส่งข้อความหรืออีเมลหาพนักงาน อาจจะจั่วหัวเรื่องไว้ว่า “ด่วน” “ไม่ด่วน” “สำหรับสัปดาห์หน้า” เพื่อให้พนักงานสามารถจัดสรรและบริหารเวลา ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้ง่ายขึ้น
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ สวัสดิการและสิทธิต่าง ๆ ที่บริษัทมีให้ จะต้องประกาศให้ชัดเจนเป็นที่รับรู้ เพราะจะมีพนักงานกี่คนที่กล้าเรียกร้อง หรือหนักเข้าคือรู้สึกว่าต้องปกปิดปัญหา เพื่อไม่ให้องค์กรคิดว่า “ภาระทางบ้าน” จะทำให้ทุ่มเทให้กับงานน้อยลง และสุดท้ายจะไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะเมื่อบุคลากรกลุ่มที่ต้องดูแลครอบครัว มักจะอยู่ในช่วงวัยที่มีประสบการณ์ทำงาน สามารถสอนงานได้ และกำลังจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งระดับผู้จัดการซึ่งเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังสำคัญนการขับเคลื่อนองค์กร
การสื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และมีช่องทางสื่อสาร จะทำให้เห็นว่าบริษัทใส่ใจความเป็นอยู่ของพนักงาน และพร้อมจะรับฟังปัญหา และหาโอกาสที่จะช่วยเหลือ
และเมื่อพนักงานทำงานได้อย่างสบายใจ ผลก็ส่งกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงานที่ดี เกิดความเชื่อมั่นและความผูกพันต่อองค์กร และเพื่อนร่วมงาน
เพราะครอบครัว ไม่ว่าจะมีหน้าตารูปร่างแบบไหน ก็เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับทุกคนเสมอ หากองค์กรช่วยพนักงานให้ทำงานได้อย่างสบายใจ โดยการสนับสนุนให้พนักงานดูแลคนสำคัญในชีวิตได้ เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ได้ใจพนักงาน ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาทำงานด้วย ก็จะไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล :
Aimee, H. (2022). WHAT WORKING PARENTS REALLY WANT. Retrieved 1 February 2022, from https://www.bustedcubicle.com/parents/helping-working-mothers-and-fathers
Council Post: 15 Ways Companies Can Better Support Working Parents. (2022). Retrieved 4 February 2022, from https://www.forbes.com/sites/forbeshumanresourcescouncil/2021/08/23/15-ways-companies-can-better-support-working-parents/?sh=2b27aa46759e
Married to the job no more: Craving flexibility, parents are quitting to get it. (2021). Retrieved 1 February 2022, from https://www.mckinsey.com/business-functions/people-and-organizational-performance/our-insights/married-to-the-job-no-more-craving-flexibility-parents-are-quitting-to-get-it?fbclid=IwAR38i2yn5PeMsBaGuwbb1Z8CaGuquj0qEoRu8r4WeQqAJyyF9fJ1-KTo5ZE
Parents at the Best Workplaces™. (2022). Retrieved 1 February 2022, from https://www.greatplacetowork.com/resources/reports/parents-at-the-best-workplaces-2020

พม.เข้มคุมโควิด ศูนย์เด็กเล็ก เล็งเบิกวัคซีนให้คนทำงาน
พม. ย้ำคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาดกับเด็กปฐมวัยในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ
นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. มีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น
จากสถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พบเด็กติดเชื้อ จำนวน 2,245 คน แบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 514 คน และภูมิภาค 1,770 คน อีกทั้งยังมีเด็กที่ไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ
ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตามภารกิจ อาทิ การมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน การมอบเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน เงินช่วยเหลือกองทุนคุ้มครองเด็ก การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิและสวัสดิการสังคม และการประสานส่งต่อความช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นต้น
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-6 ปีบริบูรณ์ นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ-แม่ และผู้ปกครอง รวมถึงผู้ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็ก
ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้เข้ารับการจดทะเบียนตาม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 ออกตามความแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนี้ มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จดทะเบียนกับกระทรวง พม. คือสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,357 แห่ง ซึ่งนอกจากสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจะมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางกระทรวง พม. ได้มีแนวทางสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนอีกด้วย
อาทิ 1) การจัดทำ “คู่มือการป้องกัน COVID-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน” โดยจัดพิมพ์ จำนวน 5,000 เล่ม และมอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
2) การจัดทำแผ่นพับมาตรการกลาง คำแนะนำป้องกันตนเองและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยจัดพิมพ์ จำนวน 100,000 ฉบับ มอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ผู้ปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 76 จังหวัด คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
และ 3) กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทย รวบรวมรายชื่อผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศที่แจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,100 คน เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขอรับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 953 คน เป็นต้น

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์สังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. ได้กำชับให้ทุกสถานสงเคราะห์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ งดการเข้า-ออกสถานสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก ตั้งจุดตรวจคัดกรอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะโดยตรง และฉีดพ่นทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นประจำ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเด็กในสถานสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล
นอกจากนี้ ยังได้กำชับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ และให้หน่วยงานจัดบริการห้องอาบน้ำสำหรับชำระร่างกาย ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงาน
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 บริการ Line Official Account @savekidscovid19 บริการ Mobile Application คุ้มครองเด็ก บริการแพลตฟอ์ม @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว.com

เตรียมชง ครม. ปรับมาตรการภาษี หนุน “เดย์แคร์” ในที่ทำงาน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ที่ประชุมหารือกันเรื่องการสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และหลังโควิด-19 และได้เห็นชอบข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย
1) การจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว เช่น การบูรณาการความร่วมมือกับองค์กร เครือข่าย ชุมชน สถานประกอบการ สร้างแกนนำส่งเสริมความรู้สำหรับครอบครัว การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สำหรับครอบครัวและควบคุมสื่อที่ไม่เหมาะสม
2) การจัดสวัสดิการครอบครัวในภาวะวิกฤตโควิด-19 เช่น การทบทวนหรือปรับปรุงระเบียบ หรือกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระของสถานประกอบการที่มีศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาระบบให้คำปรึกษาครอบครัว สร้างกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวในภาวะวิกฤต จัดสวัสดิการสำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็ก และที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
3) การจัดการเชิงนโยบายด้านครอบครัว เช่น การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวคุณภาพ ทบทวนรูปแบบการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทความเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดการศึกษาแบบ Home School การจัดทำหลักสูตรออนไลน์
โดยข้อเสนอดังกล่าวจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบในร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายใน 24 ชั่วโมง และปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยความร่วมมือประกอบด้วย 16 หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรจากภาคประชาสังคมและเอกชนด้วย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะยึดหลักมาตรการ 3P คือ 1) การป้องกัน (Prevention) 2) การคุ้มครอง (Protection) และ 3) การดำเนินคดี (Prosecution)
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายจุรินทร์ ยังได้กำชับให้อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเร่งทำการศึกษาเรื่องพัฒนาการของเด็กที่จะหายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ www.เพื่อนครอบครัว.com ซึ่งเป็นเว็บที่ให้สาระความรู้เกี่ยวข้องคนทุกวัยในครอบครัว และไลน์ @linefamily ที่จะให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดทำขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของครอบครัวผ่านระบบออนไลน์ซึ่งคนทั่วไปเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล