
DOWNLOAD คู่มือดูแลสุขภาพใจ เพื่อผู้ปกครอง
คลิ๊กดาวน์โหลด คู่มือดูแลสุขภาพใจเพื่อผู้ปกครอง
หนังสือคู่มือดูแลสุขภาพใจเพื่อผู้ปกครอง เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญของยูนิเซฟ ที่ชื่อว่า Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน เพื่อช่วยวัยรุ่นรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นเรื่องปกติ
โดยแคมเปญดังกล่าวมีดารา ศิลปิน และผู้ที่มีชื่อเสียงมาร่วมพูดคุยถึงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลจิตใจตนเอง โดยมุ่งจุดประเด็นให้วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้คนในสังคมสามารถพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตและวิธีการดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างเปิดเผยและเป็นปกติมากขึ้น
ที่มา: เว็บไซต์ ยูนิเซฟ ประเทศไทย

เจาะ 5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย WFH สนุก มีประสิทธิภาพ
5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย สร้าง Happy Digital Workplace เน้นสะดวก ดูแลสุขภาพกาย-ใจ รักษาความสัมพันธ์ เติมทักษะต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กลายเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้สำหรับหลายคน
LINE ประเทศไทย มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace
1. ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
2. ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
3. ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
4. ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
5. การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย


พา “ครอบครัว-การงาน” ผ่านวิกฤตโควิด-19

ที่ทำงานหลายแห่งรับรู้ว่าพนักงานถูกกระทบจากโควิดในแง่ความรู้สึกความกังวล เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการจะให้คนส่งงานครบถ้วนได้อย่างไร แต่จำเป็นต้องดูแลจิตใจ มีอะไรที่ซัพพอร์ตกันได้ บางที่เริ่มให้หัวหน้างานพูดคุยซักถาม จัดบริการที่จะช่วยดูแลครอบครัว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มใส่ใจ
โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกที่ 3 สถานการณ์โรคตึงเครียดกว่าเดิม ซ้ำเติมธุรกิจเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่และการงานของคนจำนวนมาก หลายคนหาทางออกไม่ได้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สถานการณ์งานและครอบครัวของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
โควิด-19 ระลอก 1-2-3 ปฏิกริยาของคนต่างกันไป รอบนี้มีความล้า ความเหนื่อย ซึ่งเกิดขึ้นได้ คนอยู่กับความเครียดมานาน เราพยายามทำทุกอย่าง อย่างเต็มที่แล้ว เพื่อจะออกจากจุดนี้ แต่มันวนกลับมาที่เดิม ความเครียดก็จะสูงขึ้น สิ่งนี้เกิดกับคนกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะอาชีพใด ระดับไหน ก็มีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้
สถานการณ์นี้ส่งผลลบต่อจิตใจ ต่อความเชื่อมั่นว่าฉันจะออกจากปัญหานี้ได้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าสิ้นหวัง คือเหนื่อยแล้ว ไม่ทำอะไรแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน ไม่อยากให้ใครก็ตามไปถึงจุดนี้ แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกจะยากมาก แต่ถ้าปล่อยให้ไปถึงจุดนั้นมันจะเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเรื่องโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ทำอย่างไรให้เราออกจากภาวะนี้ได้ วิธีการคงไม่ใช่การสู้สุดฤทธิ์เหมือนที่ผ่านมา
- แล้วต้องทำอย่างไร
ที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่เราจะกลับมาหาตัวเอง คงเคยได้ยินคำว่า “เมตตากับตัวเอง” ไม่ว่าสถานการณ์ที่เจออยู่จะเป็นอย่างไร บางคนลำบากมาก หรือรู้สึกผิดว่าครอบครัวติดโควิดเพราะฉันมีส่วน เกิดสงสัยในความสามารถของตัวเรา โทษตัวเราเอง
ต้องกลับมาก่อนว่า เราเป็นมนุษย์ เราอยู่ในภาวะแบบนี้มาแรมปี ความเหนื่อยความล้าเกิดขึ้นได้ ความทุกข์ที่เราและครอบครัวกำลังเจอ ไม่ใช่แค่เราหรือครอบครัวเราเท่านั้น แต่เป็นภาวะร่วมกันของคนในสังคม คิดอย่างนี้ได้ เราจะหยุดตำหนิตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดการคิดย้ำซ้ำทวนมากนัก
ถัดไปที่ต้องมีคือ จับให้ทันว่าเรากำลังรู้สึกอะไร คิดอะไร เห็นข่าวสถิติคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เห็นปุ๊บรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกแย่ โกรธ ต้องรู้ให้ทันว่าเรากำลังรู้สึกแบบนั้น รู้ให้ทันว่าเรื่องนี้กำลังกระทบใจเรา ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เรากำลังหงุดหงิด ลำบาก เครียด ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว
กลับมามองตัวเองอย่างอ่อนโยน ให้เครดิตตัวเองสักหน่อยว่า เราได้พยายามทำอะไรมาบ้างแล้ว เราได้ทำเต็มที่แล้วอย่างไรบ้าง มองให้เห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราเจอคนอื่นอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะปลอบเขาว่าอะไร “เฮ้ย แกก็สู้มาเยอะแล้วนะ ทำเต็มที่ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว” บอกประโยคนี้กับตัวเราเอง
- ผู้ชายจะเครียดมากเพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว
สำหรับคนที่มีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว เจอสถานการณ์แบบนี้ อาจเป็นจังหวะให้กลับมาทดสอบสมมติฐานที่เรามี ว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีใครคนหนึ่งรับผิดชอบหลักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การเป็นคนที่รับผิดชอบหลัก เราจะซัดออกไปข้างนอกอย่างเต็มที่ ทำทุกอย่างเต็มแรง จนถึงจุดที่ล้า ไม่ไหวแล้ว โควิดอาจเป็นโอกาสให้เรากลับมาดูว่า จริงๆ แล้วบทบาทในครอบครัวของเรา จากที่วางความรับผิดชอบไว้ที่คนใดคนหนึ่ง มันควรเป็นจังหวะที่ทุกคนในครอบครัวเข้ามารับผิดชอบซึ่งกันและกันหรือเปล่า
ถ้าคนที่รับผิดชอบหลักเป็นผู้ชาย ซึ่งผู้ชายก็ถูกภาพของสังคมที่วางไว้ว่าต้องเข้มแข็ง อดทน ต้องเป็นผู้นำ อยากให้มองกลับมาที่สถานการณ์ที่เราเจอว่า เราอดทนเข้มแข็งมาหนึ่งปี ครบหนึ่งปี กลับมาพีคสุดอีกครั้ง ไม่ว่าเป็นใครที่ต้องรับผิดชอบ ผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม ก็ต้องเครียดทั้งนั้น
ผู้ชายก็กลับมาเมตตาและอ่อนโยนกันตัวเองได้ การเมตตาและอ่อนโยนกับตัวเองไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ หรือความเป็นเพศหญิง แต่คือการมีสติ และยอมรับความเป็นเจ้าของความรู้สึกของเรา ว่ามันเจ็บ มันปวด มันเหนื่อยได้อย่างเต็มที่ การยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ คือความเข้มแข็งที่สุด
- ครอบครัวจะดูแลกันอย่างไร
ตอนนี้สภาพการข้างนอกแปรปรวน ควบคุมไม่ได้ อยากให้กลับมามองว่า ไม่ว่าข้างนอกจะปั่นป่วนอย่างไร เราจะให้ครอบครัวของเราเป็นที่สงบและมั่นคงมากที่สุด
สิ่งที่เราทำได้ ทรัพยากรที่เราเคยมี เคยไปเที่ยว เคยไปสังสรรค์อาจจะน้อยลง แต่ทรัพยากรสำคัญที่สุดสำหรับครอบครัวไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือความรักความอบอุ่นที่เรามีให้กัน อยากให้คุณพ่อคุณแม่หันหน้าหากัน สิ่งที่หายไปกับโควิดอย่าเพิ่งไปโฟกัสมัน วันนี้เรายังมีสิ่งที่มีค่ามากในครอบครัว คืออะไร แล้วเรากลับมาหาสิ่งนั้น
มันอาจเป็นเรื่องเล็กๆ แค่เราได้เห็นลูกเล่นกัน เราได้อยู่กับลูก อาจจะเป็นความสุขที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้ กลับมามองสิ่งที่มี และเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นกำลังใจ เพื่อจะรับมือกับเรื่องหนักๆ ข้างนอก แค่ครึ่งชั่วโมงที่เรามีเวลาอยู่กับสิ่งที่มีค่า อาจทำให้เรามีกำลังใจกลับมาทำสิ่งต่างๆ ได้
- คนจำนวนมากยุคนี้ใช้ชีวิตคนเดียวจะทำอย่างไร
การอยู่คนเดียว แล้วจากไปอย่างลำพังในสถานการณ์โควิด เป็นสิ่งที่เห็นแล้วเรากลัวมากที่สุด เพราะมันคุกคามสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ที่เราต้องการสังคม ต้องการมีคนรอบข้าง พอเห็นข่าวอย่างนี้มันกระตุ้นความรู้สึกหวาดกลัวความโดดเดี่ยว
คนที่อยู่คนเดียวทำอย่างไร หันไปก็ไม่มีลูกจะเล่นด้วย ครอบครัวก็อยู่ไกล
สิ่งที่ทำได้คือ กลับมาที่ตัวเอง อย่าให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวทำให้เรายิ่งขังตัวเองตามลำพัง บางครั้งสิ่งที่เรากลัวกังวล จะบอกให้เรารู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และให้คุณค่าในชีวิตมากที่สุด ถ้าเรารู้สึกกลัวที่จะอยู่ตามลำพัง คิดถึงพ่อคิดถึงแม่ คิดถึงเพื่อน แต่ด้วยการเดินทางทำไม่ได้ แต่เทคโนโลยีทำได้ ติดต่อสื่อสารพูดคุยให้สม่ำเสมอ ลองผันความรู้สึกกลัวมาเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น
ที่ทำงานหลายที่รับรู้ว่าพนักงานถูกกระทบจากโควิดในแง่ความรู้สึกความกังวล เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการจะให้คนส่งงานครบถ้วนได้อย่างไร แต่จำเป็นต้องดูแลจิตใจ มีอะไรที่ซัพพอร์ตกันได้ บางที่เริ่มให้หัวหน้างานพูดคุยซักถาม จัดบริการที่จะช่วยดูแลครอบครัว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มใส่ใจ
การทำงานที่บ้าน หัวหน้า เพื่อนร่วมงานอาจจะต้องยืดหยุ่น เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีห้องทำงานส่วนตัว และในฐานะคนที่อยู่ที่บ้าน บางทีมีอย่างอื่นต้องดูแล เช่น มีลูก มีพ่อมีแม่ที่ต้องทำหน้า ที่คงต้องยืดหยุ่น และทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย