
ฝ่าวิกฤตปิด “เดย์แคร์” กู้ประสิทธิภาพ มนุษย์งานพ่อแม่
วิกฤตโควิด ปิดเนิร์สเซอรี-เดย์แคร์ ทำพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนเครียด งานดร็อป ลาเลี้ยงลูก ผู้นำสหรัฐฯ เร่งอัดฉีดงบฉุกเฉิน ฟื้นศูนย์เด็กที่แพ้ภัยเศรษฐกิจจนต้องเลิกกิจการ ด้านธุรกิจเร่งหาตัวช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวพนักงาน หวังกู้ประสิทธิภาพการทำงาน
หนึ่งในความท้าทายของคนทำงานที่มีลูกน้อยต้องดูแลในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ก็คือ “สถานรับเลี้ยงเด็กปิด” ตามนโยบายของภาครัฐ พ่อแม่ที่ออฟฟิศยังไม่ให้ทำงานจากที่บ้าน จำต้องแบ่งเวลาทำงานไปดูแลลูก
“ตอนแรกที่ลูกเริ่มเรียนออนไลน์ที่บ้าน ฉันคิดว่าง่าย ๆ จัดการได้ แต่พอเอาเข้าจริงเป็นเรื่องยากมาก ฉันต้องลาหยุดดูแลลูก ต้องพลาดประชุมสำคัญเป็นประจำ” Sara Abate Rezvanifar ผู้อำนวยการบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC
มีการสำรวจจากองค์กร American Staffing Association พบว่าพ่อแม่ชาวอเมริกันกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการต้องดูแลลูกที่อยู่บ้านตลอดเวลา และจัดการให้ลูกเรียนออนไลน์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หลายคนรู้สึกว่าตัวเองตามงานไม่ทัน
ส่วนพ่อแม่ที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไร หลายคนพูดตรงกันว่า ถึงจะอยู่บ้าน แต่การจัดการเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไหนจะต้องทำงาน ประชุมออนไลน์ ในขณะที่ลูกเรียกหา ทำให้ต้องเสียจังหวะการงานการประชุม การต้องแบกสองจ็อบในเวลาเดียวกัน ทั้งการดูแลลูกและทำงาน ทำให้พ่อแม่หลายคนอยู่ในภาวะเครียด นอนไม่พอ นอนไม่หลับ จนรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งที่ทำงานอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปไหน
ขาดแคลน "เดย์แคร์" ฉุดประสิทธิภาพ พ่อแม่มนุษย์เงินเดือน

สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอ และมีราคาแพงมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งโควิดระบาด สถานรับเลี้ยงเด็กถูกสั่งปิด พ่อแม่ยิ่งลำบากขึ้นอีก โดยเฉพาะคุณแม่ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลลูก ๆ คุณแม่ชาวอเมริกันต้องลดเวลาทำงานตัวเองเพื่อแบ่งมาทำงานบ้านดูแลลูกที่อยู่บ้าน
รายงานเมื่อปี 2019 ของ Council for a Strong America ระบุว่าการขาดแคลนสถานรับเลี้ยงเด็กในสหรัฐฯ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของชาวอเมริกัน ทำให้สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากกว่า 13,000 ล้านเหรียญต่อปี มีบริษัทเพียงร้อยละ 4 ในสหรัฐ ที่มีสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงาน หรือมีนโยบายช่วยเหลือพนักงานเรื่องการดูแลลูก
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงในสหรัฐฯ สถานรับเลี้ยงเด็กเป็นบริการสาธารณะประเภทแรก ๆ ที่รัฐบาลถูกสั่งปิด แม้ในเวลาต่อมา รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ อนุญาตให้สถานรับเลี้ยงเด็กเปิดได้ตามปกติ แต่หลายแห่งก็ขาดทุนต่อเนื่อง จนต้องปิดตัวถาวรไปเลย
ข้อมูลของ American Progress ระบุว่าปัจจุบัน เด็กกว่า 4.5 ล้านคนในสหรัฐฯ ไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็กรองรับ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน จำต้องรีบประกาศงบประมาณฉุกเฉินอุดหนุนกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กให้ฟื้นตัวโดยเร็ว เพราะรัฐบาลเชื่อว่าถ้ามีสถานรับเลี้ยงเด็กช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ พ่อแม่จะได้กลับไปทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เอกชนเร่งหาตัวช่วยรับภาระลูก ดึงพ่อแม่กลับมาทำงาน
นอกจากการอนุญาตให้พนักงานยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน โดยสามารถบริหารเวลาได้เองแล้ว บริษัทในสหรัฐฯ เริ่มมองหามาตรการเสริมเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ต้องดูแลลูกที่บ้าน
Duolingo บริษัทรับจัดทำเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศ เลือกการว่าจ้างบริษัทดูแลเด็กมาให้คำแนะนำพ่อแม่ และสร้างระบบ Backup Care หรือสถานรับเลี้ยงดูเด็กในกรณีฉุกเฉิน เช่น พ่อแม่มีธุระจำเป็นหาคนฝากเลี้ยงไม่ได้จริง ๆ
ขณะเดียวกัน ก็มีจัดระบบดูแลเด็กออนไลน์ บริษัทที่รับจ้างดูแลเด็ก จะวิดีโอคอลล์คุยกับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็กที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านมีกิจกรรมทำ ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ที่กำลังทำงาน

“พนักงานอยากได้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและอารมณ์สำหรับคนในครอบครัวจากการทำงานที่บ้าน เราเลยร่วมมือกับบริษัทดูแลเด็ก ออกแบบโปรแกรมให้ความรู้และมีกิจกรรมนันทนาการสำหรับเด็ก ๆ เวลาอยู่บ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้พ่อแม่ที่ต้องทำงานไปด้วย” Jill Wilson ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท Carter บริษัทเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ กล่าว
ด้าน Best buy บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า เพิ่มเงินให้พนักงานเดือนละ 100 เหรียญสหรัฐ เพื่อการดูแลครอบครัว ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับบริษัทดูแลเด็กออนไลน์ Care.com ในการจัดหาพี่เลี้ยง หรือหาคนดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
Tim Allen ซีอีโอของ Care.com กล่าวว่าปัจจุบันมีกลุ่มพ่อแม่มากกว่า 200,000 คนใช้บริการของ Care.com และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทต่าง ๆ พยายามหาทางช่วยเหลือพนักงานที่ต้องทำงานจากที่บ้าน เลยเลือกใช้บริการจัดหาพี่เลี้ยงผ่านทางออนไลน์ให้พนักงาน
“ช่วงโควิดระบาด พ่อแม่ส่วนใหญ่หาเดย์แคร์ให้ลูกไม่ได้ เพราะถูกสั่งปิด พอเดย์แคร์กลับมาเปิดให้บริการ แต่สถานการณ์โควิดยังไม่ค่อยดี การพาลูกไปไปอยู่รวมกันก็มีความเสี่ยงสูง การจัดหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกที่บ้านช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับศูนย์ แต่ก็มั่นใจได้มากกว่า” Tim Allen กล่าว
ที่มา :
www.nytimes.com
www.cnbc.com

May bank ออมเวลา เพื่อพนักงานที่เป็นพ่อแม่

เมย์แบงก์ ประเทศมาเลเซีย ตอบโจทย์ธุรกิจ ด้วยการดูแลพนักงานที่เป็นพ่อแม่ ให้สามารถจัดการเวลา-สถานที่ทำงาน พร้อมเปิดเดย์แคร์ โทรจองได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เมย์แบงก์ (Maybank) ธนาคารสัญชาติมาเลเซีย ที่มีสาขากว่า 20 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานมากกว่า 40,000 คน เริ่มปรับตัวสร้างสถานที่ทำงานที่เข้าใจเรื่อง Work-Life Balance เพื่อสนับสนุนพนักงานที่มีครอบครัว
เมย์แบงก์พบว่าในช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมา พนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานหญิงในวัยสร้างครอบครัว ที่ต้องดูแลลูก และเพื่อที่จะสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงเหล่านี้ต่อไปในอนาคต บริษัทฯ จะต้องสร้างสถานที่ทำงานที่เอื้อต่อครอบครัว
เริ่มต้นจากการสร้างนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นเวลา โดยกำหนดเพียงระยะเวลาที่ต้องทำงานในครบต่อสัปดาห์ แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือจะขอลดเวลาการทำงาน หรือต้องการเปลี่ยนเป็นรูปแบบการจ้างเป็นพาร์ทไทม์ โดยมีเงื่อนไข เช่นอาจปรับลดค่าจ้างและสวัสดิการลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้สำหรับพนักงานหลายคน เพื่อแลกกับเวลาที่เพิ่มขึ้น หรือลักษณะการทำงานที่เอื้อให้ดูแลครอบครัวได้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้พนักงานหญิงลาคลอดได้เป็นระยะเวลานานถึง 1 ปี ส่วนพนักงานชายก็สามารถลาได้ 3 เดือน ครอบครัวที่รับอุปการะลูกบุญธรรมก็สามารถลาได้ด้วยเช่นกัน
ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก Maybank Tiger Cubs Childcare Centre (MT3C)
ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ธนาคารจัดตั้งศูนย์เลี้ยงดูเด็กในชื่อ Maybank Tiger Cubs Childcare Centre สำหรับพนักงานบริษัทที่เป็นพ่อแม่ ให้สามารถนำลูกมาฝากศูนย์ได้ปีละไม่เกิน 90 วัน โดยมีสายด่วนฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้พ่อแม่สามารถโทรมานัดได้ตลอดเวลา
ศูนย์ฯ รับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน ถึง 6 ปี เปิดให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น ภายในศูนย์ มีพยาบาลและครูพี่เลี้ยงที่ผ่านการฝึกฝนอยู่ประจำ เด็กๆ ที่เข้ามาอยู่ในการดูแลของศูนย์ฯ จะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัย
Work Life Balance ของรัฐบาลมาเลเซีย
หน่วยงานรัฐบาลมาเลเซียในชื่อว่า Talent Corporation Malaysia หรือ Talent Corp เป็นผู้รับผิดชอบโครงการสนับสนุนในหน่วยงานเอกชน มีนโยบายสนับสนุนสภาพการทำงานของพนักงาน ผ่านโครงการของรัฐในชื่อ Flexible Work Arrangements ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2013
หัวใจของโครงการคือการสร้างมาตรการสนับสนุนพนักงานโดยธุรกิจเป็นผู้ขับเคลื่อน อันนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านวิชาการและองค์ความรู้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถสร้างระบบภายในองค์กรที่สนับสนุนพนักงาน รวมทั้งมีการลดหย่อนภาษี ให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ
ที่มา http://flexworklife.my/

สวัสดิการยุคใหม่ ดูแลชีวิต-ครอบครัวพนักงาน

วิถีชีวิตมนุษย์งานยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป องค์กรที่ต้องการรักษาและดึงดูดคนเก่งให้มาร่วมงาน จึงต้องเร่งหาสวัสดิการที่จะตอบโจทย์ความต้องการคนทำงานให้ได้มากที่สุด
1. Work From Home – WFH
ทำงานจากที่บ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ช่วยให้การทำงานสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อมูล การประสานงาน การประชุม ฯลฯ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ที่ทำงานหลายแห่งค้นพบว่า การที่พนักงานไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร โดยเฉพาะค่าไฟ ขณะที่พนักงานก็รู้สึกว่าได้เวลาคืนมา สัมพันธภาพกับครอบครัวดีขึ้น แถมประหยัดค่าเดินทางด้วย
2. ดูแลสุขภาพจิต เยียวยาสุขภาพใจ
นอกจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่หลายองค์กรเริ่มจัดให้พนักงานมาระยะหนึ่งแล้ว ที่เป็นเทรนด์ล่าสุด ได้แก่การดูแลสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
3. ภารกิจแก้หนี้
ปัญหาหนี้สินกลายเป็นประเด็นที่กระทบประสิทธิภาพการทำงานได้ลำดับต้นๆ องค์กรหลายแห่งพบว่าคนทำงานเก่งๆ อยู่ดีๆ งานดร็อป พอค้นหาสาเหตุ พบว่าจำนวนมากเป็นเรื่องหนี้ที่จัดการได้ของพนักงานแต่ละคน แต่ปัญหาแบบนี้ ถ้าที่ทำงานยื่นมือมาช่วย ปัญหาอาจแก้ได้ง่ายดาย แล้วพนักงานคนเก่งก็จะกลับคืนสู่องค์กรได้อีกครั้ง
4. ครอบครัวคือชีวิต
องค์กรจำนวนมากได้เห็นแล้วว่า ครอบครัวเป็นอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตพนักงาน การจัดสวัสดิการเพื่อให้พนักงานดูแลครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น เท่ากับเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเดย์แคร์ให้ลูกๆ ของพนักงาน หรือการจัดวันลาหลังคลอด ไปจนถึงวันลาเพื่อพาลูกไปหาหมอกรณีป่วยไข้ไม่สบาย
5. พ่อแม่สูงวัย
สังคมไทยและสังคมในหลายๆ ประเทศก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงเวลา หรือแม้แต่ดึงพนักงานให้ต้องออกจากการทำงาน หลายองค์กรเริ่มมีมุมมองที่จะช่วยดูแลในส่วนนี้ เช่น การมีวันลาเมื่อพ่อแม่ป่วยไข้หรือต้องไปพบแพทย์ รวมไปถึงการจัดสวัสดิการตรวจสุขภาพให้กับสมาชิกสูงวัยในครอบครัวพนักงาน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้สูงวัย พ่อแม่แข็งแรงดี พนักงานก็มีภาระในการดูแลครอบครัวลดลง และใช้เวลากับการทำงานได้เพิ่มขึ้น
ที่มา
www.business2community.com/
www.cnbc.com