
ทำอย่างไร ถ้าลูกต้อง Home Isolation
ข้อมูลจากกรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 6 กรกฎาคม รายงานผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดเชื้อทั้งหมด 32,829 ราย ส่งผลให้อัตราครองเตียงสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่ในโรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้จนหายสนิท
ผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากมีอาการ
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้าน ผู้ที่มีอาการและตรวจพบเชื้อแล้ว หรือตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการให้แยกตัว 14 วันนับจากมีอาการ หรือตรวจพบเชื้อครั้งแรก กรณีที่ไม่ได้ตรวจหาเชื้อแต่มีความเสี่ยงสูง เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แนะน าให้แยกตัวเองอยู่ที่บ้าน และปฏิบัติตัวเสมือนผู้ติดเชื้อ
แนวทางการแยกตัวที่บ้าน
Home Quarantine หมายถึง การแยกผู้สงสัยว่ามีการสัมผัสเชื้อไวรัส แต่ยังไม่มีอาการ ไม่เคยได้รับวัคซีน ให้แยกกักตัวที่บ้าน 14 วัน
Home Isolation หมายถึง การแยกกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัส สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ จะต้องแยกตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา
10-14 วัน

แยกตัวที่บ้านอย่างไร?
ผู้ที่แยกกักตัวจะต้องอยู่บ้าน รักษาระยะห่างจากผู้อื่นจนพ้นระยะติดเชื้อ สังเกตอาการของ COVID-19 และไม่ให้คนมาเยี่ยมที่บ้าน
ต้องอยู่ห่างจากสมาชิกคนอื่นในบ้านและสัตว์เลี้ยง 6 ฟุต ถ้าสามารถทำได้ ยกเว้นผู้กักตัวด้วยเหตุผลเดียวกัน
ใส่หน้ากากอนามัยหากไม่สามารถรักษาระยะห่าง 6 ฟุตจากผู้อื่น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีปัญหาหายใจลำบาก ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย
ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำ และสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ
แยกนอนในห้องเดี่ยว หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้รักษาระยะห่าง หรือนอนกลับหัวกัน
แยกสิ่งของเครื่องใช้เป็นส่วนตัว
เมื่อเด็กป่วย แต่ผู้ดูแลไม่ติดเชื้อ
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปีแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- ไม่ควรพาเด็กออกไปนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่มีโอกาสเกิดโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่าง หรือประตูเพื่อให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสเด็ก และจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ 70%
- ไม่รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกัน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ดูแล เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่
มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร - ปิดฝาก่อนกดชักโครกทุกครั้ง ล้างมือให้ถูกวิธีทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ
คำแนะนำในการทำความสะอาดบ้าน

พื้นที่ผิว และเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดร่วมกับใช้ น้ำยาฟอกขาว 1 ฝา ผสมน้ำ 1 ลิตรเช็ดพื้นที่ผิวทั่วไปเป็นเวลา 1 นาที
ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบจับสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ที่จับประตู ราวบันได อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้งตามความจำเป็น
แยกทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนของเด็ก ด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำหรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส
แยกขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น (หากทำได้ ชั้นนอกควรเป็นถุงขยะสีแดง) ติดป้าย “ขยะติดเชื้อ” ราดด้วยน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งใสถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
คำแนะนำการเฝ้าระวังอาการของโรคโควิด
- ควรมีอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการเด็ก ได้แก่ ปรอทวัดไข้, ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว, โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่สามารถถ่ายคลิปอาการของเด็กได้
- ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล), ยาแก้ไอ, ยาลดน้ำมูก, เกลือแร่
- ให้ผู้ดูแลสังเกตอาการของเด็ก วันละ 2 ครั้ง
- อาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตต่อที่บ้านได้ ได้แก่ ไข้ต่ำ น้ำมูก ไอเล็กน้อยแต่ไม่หอบเหนื่อย ถ่ายเหลว แต่กินอาหารหรือนมได้ปกติ ไม่ซึม
- อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาล ได้แก่ หายใจเหนื่อย อกบุ๋ม ปากเขียว (กรณีมีอุปกรณ์อาจใช้วิธีถ่ายคลิปได้) ออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า หรือเท่ากับ 96% (กรณีมีที่วัด) ซึม ถ่ายเหลวอาเจียนมาก กินไม่ได้ ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
คำแนะนำการดูแลรักษาตามอาการ
ถ้ามีไข้ ให้ทานยาลดไข้ และเช็ดตัวลดไข้
ถ้ามีอาการไอ น้ำมูก ให้รับประทานยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูกได้ และดื่มน้ำมาก ๆ
ถ้ามีอาการถ่ายเหลว ให้รับประทานน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
ที่มา : เว็บไซต์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ราชวิทยาลัยกุมารฯ ไขข้อข้อใจ ทำไมเด็กไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยแถลงการณ์ โรคโควิด-19 ในเด็ก (ฉบับที่ 2/2564) เรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็ก โดยระบุว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้มีการแพร่อย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ขณะนี้พบมีรายงานการติดโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยเด็กเพิ่มสูงขึ้นกว่าการระบาดในระลอกหนึ่ง และระลอกสองอย่างมาก
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 เม.ย.ถึง 15 มิ.ย. 2564 รายงานผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดโรคโควิด-19 สะสม จำนวน 13,608 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทุกอายุ 173,401 ราย คิดเป็นผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กร้อยละ 7.8 ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.03 ทั้งหมดเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และเมื่อติดตามข้อมูลจนถึง 13 ก.ค. 2564 พบผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว เป็น 33,020 ราย โดยมีอัตราส่วนของเด็กติดเชื้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.2 ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเด็กติดเชื้อโควิด-19 ในระยะ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการระบาดในชุมชนและครอบครัวที่ยังควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีพบว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
ในขณะนี้ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดในอัตราที่ต่ำมาก (8 ต่อ 1,000,000 คนที่ฉีด) ภายหลังจากได้รับวัคซีนในไม่กี่วัน ซึ่งมักพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี และพบหลังการฉีดเข็มสองมากกว่าเข็มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับคืนมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้และติดตามข้อมูลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด วัคซีนนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2564 การนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
สำหรับวัคซีน Sinovac แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะ I/II พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กกลุ่มนี้ ในขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุหกเดือน ซึ่งน่าจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอีกไม่นานนี้
สำหรับในภาพรวม ยังพบการติดโรคโควิด-19 ในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ และผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มักไม่รุนแรง ดังนั้นราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีความเห็นสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยที่ยังไม่จัดให้เด็กปกติที่มีสุขภาพดี เป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญในอันดับต้นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในขณะนี้
คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
- ยังไม่แนะนำวัคซีน โควิด-19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
- แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
- แนะนำให้ผู้ปกครอง ทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชนอย่างเข้มงวด และการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ใหญ่ เพื่อคุ้มครองเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนี้
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รวมรวมข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของเด็กและเยาวชน อายุ 0-18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง 29 มิถุนายน 2564
พบว่า มีตัวเลขเด็กติดเชื้อโควิด-19 สะสม รวมทั้งสิ้น 20,062 ราย
จากวันที่ 16 – 22 มิถุนายน 2564 มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,586 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.11 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (23,101 ราย)
จากวันที่ 23 – 29 มิถุนายน 2564 มีเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 3,735 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.85 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (29,150 ราย)
มีผู้ป่วยเด็ก เสียชีวิตเพิ่ม ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์หลัง 1 ราย รวมเด็กเสียชีวิตสะสม 5 ราย ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ถึง 29 มิถุนายน 2564
ที่มา : เว็บไซต์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

จีนจัดลำดับใหม่ กลุ่มเป้าหมาย ฉีดวัคซีนโควิด-19
หลายมณฑลและเขตปกครองตนเองในจีน เริ่มปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากนโยบายเดิม เน้นวัยทำงาน - ผู้สูงอายุ - เด็กและเยาวชน โดยหลายพื้นที่ หันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยเรียนเพิ่มขึ้น หลังพบความเสี่ยงที่เด็กและวัยรุ่น จะมีอาการรุนแรงหลังติดเชื้อ และยังมีส่วนสำคัญในการแพร่เชื้อในชุมชน
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งมณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีการปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้
โดยคาดว่าจะแบ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กและเยาวชนหลายระยะตามกลุ่มอายุ ตั้งแต่นักเรียนที่ใกล้จบการศึกษา ไปจนถึงนักเรียนกลุ่มที่เพิ่งเข้าเรียน โดยตั้งเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กลับกลุ่มเด็กและเยาวชนครบสองโดสในเดือนกันยายนนี้
ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณศุขของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน จากนั้นจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มอายุ 12-14 ปีในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะเสร็จสิ้นแผนการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเยาวชนภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้
แผนฉีดวัคซีนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จะครอบคลุมนักเรียนส่วนใหญ่ ในโรงเรียนประถม มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องอ่านแบบฟอร์มยินยอมโดยละเอียด และลงนามยินยอมก่อนที่เด็กจะเข้ารับวัคซีน รวมทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องอยู่กับเยาวชนระหว่างการรับวัคซีนด้วย
คณะกรรมการสุขภาพของกว่างซี ระบุว่า จะมีการเปิดสายด่วนให้คำปรึกษา เพื่อตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 12-17 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนฉีดวัคซีนของกว่างซีจ้วงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
หน่วยงานด้านสาธารณสุขเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ระบุว่า จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็กและเยาวชนอายุ 12-17 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ส่วนคณะกรรมการสุขภาพนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เตรียมจะวิจัยและร่างแผนฉีดวัคซีนให้เยาวชนอายุ 12-17 ปี
เจิ้งฮุ่ยเจิน หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคแห่งสมาคมยาเพื่อการป้องกันแห่งมณฑลกว่างตง กล่าวว่า ขณะที่จีนดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยลำดับกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนเริ่มจากผู้ใหญ่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน แต่มณฑลและเขตปกครองตนเอง เริ่มมีการจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และปัจจัยแวดล้อมอื่น
“แม้ว่าเด็กและวัยรุ่นจะมีอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ไม่สูงนัก หรือไม่แสดงอาการเลย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ นอกจากนี้เด็กและวัยรุ่นยังมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในชุมชน” เกาเฉียง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนเซส จำกัด กล่าว
ปัจจุบัน แผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขนานใหญ่ของจีน มุ่งฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศไปแล้วเกือบ 1.44 พันล้านโดส
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน จีนอนุมัติการใช้งานกรณีฉุกเฉิน วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี

เปิด 4 แนวทางดูแล เด็ก-ครอบครัว ติดโควิด
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กำหนด 4 แนวปฏิบัติ สำหรับเด็กและครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 เน้นปลอดภัย ได้อยู่กับครอบครัว สร้างความเข้าใจ คลายหวาดกลัว เสริมพัฒนาการต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้พบเด็กและครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากขึ้น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 4 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ และผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว
แนวทางที่ 2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล โดยผู้ปกครองควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้
แนวทางที่ 3 กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลต่อไป หรืออาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก
แนวทางที่ 4 กรณีที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้คณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร อาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยพิจารณาจากความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการบริการจัดการ ตามดุลพินิจของคณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้เหมาะสมตามบริบท เพื่อดำเนินการดูแลเด็กต่อไป
“ทั้งนี้ การดูแลเด็กติดเชื้อในสถานแยกกักของรัฐ โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ผู้ดูแลเด็ก ควรชวนเด็กพูดคุยในประเด็นที่เด็กอาจมีคำถามหรือความหวาดกลัวเพื่อเป็นการคลายความกังวล รวมถึงจัดให้มีการติดต่อระหว่างเด็กกับครอบครัวหรือเพื่อนเป็นประจำสม่ำเสมอผ่านทางออนไลน์ จัดหากิจกรรมที่เด็กชอบและสามารถทำได้ด้วยตนเองที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก เช่น งานฝีมือ การต่อจิ๊กซอว์ การเล่านิทานเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่อง มีการสอนให้เด็กไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นทำความสะอาดเครื่องเล่นหรือของเล่นด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
“ในส่วนของการเตรียมอาหาร เน้นให้เด็กได้กินผัก ผลไม้ 5 สี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และจัดเตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายทุกวัน นอนหลับให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน และฝึกเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างให้เป็นสุขนิสัยประจำตัว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวกรมอนามัย
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย