
WFH ชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น กุญแจสำคัญสร้างคุณภาพชีวิตพ่อแม่มนุษย์งานยุคโควิด

เรื่อง WFH และมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น อยากให้พนักงานที่มีลูกเล็กได้ใช้ใน 3 ปีแรกเลยเพื่อการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพที่ดี ถ้าไม่สามารถให้ในเรื่องนี้ได้ การมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ก็พอจะตอบโจทย์แทนได้
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งรูปแบบการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รู้จักกับการทำงานวิถีใหม่ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนอกจากเป็นนักวิจัย ยังมีอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่คือคุณแม่ลูกสอง ผู้สนใจเรื่อง work-life balance และนโยบายส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย จะมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องทำงาน ต้องดูแลลูกในยุคโควิด รวมทั้งนำเสนอแนวคิดที่สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน
ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นความต้องการของครอบครัวได้ชัดเจนขึ้นหรือไม่ ในแง่ใดบ้าง
ผศ.ดร.มนสิการ – ภาพต่าง ๆ ปรากฎชัดขึ้น กลุ่มคนที่ลักษณะการทำงานสามารถ WFH ได้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วแต่ว่าลูกอยู่ในวัยไหน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกต่ำกว่า 1 ขวบ WFH ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับแม่หลายคน ถึงยังไม่มีงานวิจัยอย่างจริงจังแต่จากที่ได้สัมภาษณ์จากคนรู้จัก 4 ครอบครัว พบว่าแม่ 3 ใน 4 เป็นคนทำงาน และมีลูกในช่วงโควิด เขาคิดไว้ว่าเมื่อลาคลอดครบ 3 เดือนแล้วจะลาออกจากงานเพราะยังไม่พร้อมไปทำงาน แต่พอมี WFH ทำให้เขาสามารถทำงานได้และเลี้ยงลูกไปด้วยได้ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องขยายเวลาในการลาคลอด ทำให้แม่สามารถบาลานซ์การเลี้ยงดูลูกและการทำงาน ไปด้วยกันได้
แต่ถ้าลูกอยู่ในวัย 2-6 ขวบ ที่ต้องเรียนออนไลน์ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะทำงานไม่ค่อยได้มากนัก เพราะอาจต้องมีส่วนร่วมในการเรียนกับลูกไปด้วย ถ้าลูก 7 ขวบไปแล้ว ก็ปล่อยเรียนด้วยตัวเองได้ เราก็นั่งทำงานอีกห้องหนึ่งแล้วเข้ามาคอยดูเป็นระยะ และถ้าไม่ได้ WFH ใครจะช่วยดูลูก ไปโรงเรียนก็ไม่ได้เพราะกลัวโควิด สถานการณ์นี้ทำให้เห็นความต้องการของครอบครัวได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากงานวิจัยที่อาจารย์เคยศึกษาเกี่ยวกับการเป็นแม่และการทำงาน ได้พัฒนาต่อ หรือมองเห็นแง่มุมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผศ.ดร.มนสิการ – ยังไม่ได้ทำเพิ่ม แต่มองว่าควรศึกษาเพิ่มเติมในมุมมองของสถานประกอบการ คือ มาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น WFH เรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น สถานเลี้ยงดูเด็กในสถานประกอบการ การมีมาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือต่อความผูกพันต่อองค์กรหรือไม่ ถ้าเรามีคำตอบตรงนี้อย่างชัดเจนอาจช่วยโน้มน้าวสถานประกอบการได้ดีขึ้น ในแง่ของนักวิจัยสิ่งที่เราสนใจด้วยคือ แล้วจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวจริงหรือไม่
ถ้าเราได้คำตอบเป็นตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดเจนจากสถานประกอบการ สามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นาน ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดว่าการผลักดันให้เกิดมาตรการเหล่านี้จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมีการศึกษาลึกลงไปในแต่ละเรื่องด้วย อย่างต่างประเทศให้ WFH 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในออฟฟิศบ้าง ส่วนของไทยคงต้องดูว่ากี่วันถึงจะเหมาะที่สุด

สถานการณ์โควิดที่ยังไม่เห็นทางจบ สร้างผลกระทบกับผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.มนสิการ – ช่วงโควิดเป็นภาวะวิกฤติของหลายครอบครัวจริง ๆ มีความเครียดในครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหางาน เศรษฐกิจ ต้องรับภาระแทนโรงเรียนในเรื่องการดูแลเด็ก ถ้ามองในมุมของความเป็นแม่ กังวลสุดคือ เรื่องการที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กวัย 5-6 ขวบ เขาต้องเริ่มมีพัฒนาการที่ดี ต้องเรียนการอ่าน การเขียน ซึ่งเราต้องมาเป็นคนเสริมให้เอง ทั้งที่เราก็ทำงาน แต่ส่วนที่เราทำให้เขาไม่ได้คือ การเข้าสังคม เด็กต้องมีการเล่นกับคนอื่น การแบ่งปันของ การรอคอย เพราะการที่เด็กอยู่บ้านมีปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง เขาจะเอาใจเด็กกันเต็มที่ก็เป็นปัญหากับเด็กได้ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่จำเป็น จัดการอะไรยาก ครอบครัวต้องปรับตัวกันไป
สมาชิกในครอบครัวควรมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันอย่างไรในภาวะเช่นนี้
ผศ.ดร.มนสิการ – อยากให้บทบาทของพ่อและแม่มีความเท่ากันมากขึ้น ในภาพรวม เช่น การเลี้ยงลูก ผู้ชายอาจพูดว่า “เดี๋ยวพ่อมาช่วยแม่นะ” นั่นหมายความว่า เป็นงานหลักของแม่ แต่พ่อมาช่วยในบางส่วน แต่จริงๆ คือเป็นงานของทั้งคู่ที่ต้องทำร่วมกันไม่ใช่มาแค่แบ่งเบา หรือมองว่าการเลี้ยงลูกคืองานของแม่อย่างเดียว ช่วงโควิด แม่ทำงานด้วย ทำงานบ้านด้วย และดูแลลูกมากขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่ามีปัญหาด้านบาลานซ์มากอยู่แล้ว เพราะงานงอกมาในส่วนของแม่อย่างเดียว จึงควรมองว่าหน้าที่การดูแลลูกเป็นของพ่อแม่ทั้งคู่
การมีนโยบายให้ผู้ชายลาเลี้ยงดูลูก จะช่วยส่งเสริมบทบาทของพ่อได้มากขึ้นไหม
ผศ.ดร.มนสิการ – เป็นสิ่งที่อยากส่งเสริมให้มีมากขึ้น เป็นก้าวสำคัญที่จะประกาศให้สังคมและคนทั่วไปรับรู้ว่าการเลี้ยงลูกนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อด้วย และอยากให้มีการใช้นโยบายนี้เพิ่มขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีให้พ่อแม่ลาได้เท่า ๆ กัน จะเห็นภาพพ่อมาลูกมาเดินเล่นตามสวนสาธารณะค่อนข้างเยอะ มีการศึกษาพบว่าครอบครัวที่พ่อใช้วันลามาดูแลลูกได้เยอะ เพิ่มโอกาสในการมีลูกคนที่สองมากขึ้น คือ ส่วนใหญ่คนที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มคือผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเหนื่อยกับภาระต่าง ๆ แต่เมื่อผู้ชายได้รับสิทธิลามาช่วยดูแลลูกมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้อยากมีลูกคนที่สองเพิ่มขึ้น แต่ในเมืองไทย ค่านิยมเรื่องให้พ่อลามาช่วยเลี้ยงลูก ผู้ชายส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก ก็หวังอยากให้พัฒนาความคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้นในอนาคต
สังคมไทยเผชิญปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลง การมีมาตรการสนับสนุนครอบครัวที่มีลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อาจเป็นการจูงใจให้ครอบครัวมีลูกเพิ่มได้ทางหนึ่ง หรือไม่
ผศ.ดร.มนสิการ – เรามีอัตราการเกิดน้อยลงอย่างรวดเร็วทำให้สัดส่วนเด็กมีน้อยลงอย่างมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อีกไม่นานประเทศเราจะมีสัดส่วนของคนทำงานน้อยเมื่อเทียบกับวัยผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินดูแลตัวเองมากนัก ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก จึงควรส่งเสริมให้คนที่มีลูกคนแรกให้อยากมีลูกคนที่สองต่อ น่าจะง่ายกว่าไปส่งเสริมคนที่ไม่เคยมีลูกมาก่อนเพราะเขาไม่อยากมีอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลายเรื่อง อาจต้องเปลี่ยนงาน หรือออกจากงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ห่วงลูกที่ต้องอยู่ในสังคมที่ไม่ปลอดภัย
แต่ถ้ามีลูกคนแรก เขาเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ปัจจัยที่มีผลต่อการมีลูกคนที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้สามารถหาทางส่งเสริมได้ไม่ยาก เช่น ที่สิงคโปร์มี Baby Bonus สำหรับลูกคนแรก พอมีลูกคนที่สองก็เพิ่มเงินให้เยอะมากขึ้น ถ้าเรามีนโยบายช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนให้ลูกคนที่สอง ก็อาจช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้
มองมาตรการใดที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานโดยการสร้างสมดุลครอบครัวเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.มนสิการ – การมีศูนย์เลี้ยงเด็กที่สถานประกอบการ เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นสิ่งที่คนทำงานน่าจะต้องการมาก เพราะถ้ามีคนเลี้ยงที่ดีและเขาสามารถแวะมาดูลูกตอนพักเบรกได้ จะรู้สึกอุ่นใจมาก ส่วนเรื่อง WFH และ มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น อยากให้พนักงานที่มีลูกเล็กได้ใช้ใน 3 ปีแรกเลยเพื่อการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพที่ดี ถ้าไม่สามารถให้ในเรื่องนี้ได้ การมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ก็พอจะตอบโจทย์แทนได้
ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยส่งเสริมในเรื่องการลาคลอดอีกทางเลือก คือ ถ้าใครต้องการลายาวหน่อยอาจได้ค่าตอบแทนน้อย ถ้าลาสั้นก็ได้ค่าตอบแทนต่อเดือนมากหน่อย เพื่อความเป็นไปได้ในเรื่องของงบประมาณที่จะมาสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งความเหมาะสมในการให้ลาคลอดควรอยู่ที่ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ให้ลูกได้กินนมแม่ครบ 6 เดือน

จับตา “มิว” โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ เป็นยังไง แล้วต้องกังวลขนาดไหน
ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แบ่งสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม variant of concern (VOC) คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีความน่ากังวล ได้แก่ โควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) โควิดสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) โควิดสายพันธุ์แกมมา (บราซิล) และโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)
2. โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม variant of interest (VOI) คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความน่าสนใจ ได้แก่ โควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) โควิดสายพันธุ์อีตา (เจอครั้งแรกในหลายประเทศ) โควิดสายพันธุ์ไอโอตา (สหรัฐฯ) โควิดสายพันธุ์แคปปา (อินเดีย) และโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา (เปรู)
ทำไมโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) ถึงอยู่ในความน่าสนใจของ WHO
โควิดสายพันธุ์มิว มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 โดยได้ชื่อตั้งต้นว่าโควิดสายพันธุ์ B.1.621 และมีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 50-60 ตำแหน่ง ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 5 ตำแหน่งคือ
P681H ส่งผลให้การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธ์ุมิวนั้นเกิดเร็วขึ้น โดยสามารถพบลักษณะการกลายรูปแบบนี้ได้ในโควิดสายพันธุ์อัลฟา
E484K และ K417N ส่งผลให้เชื้อโควิดสายพันธุ์มิวสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ โดยสามารถพบลักษณะการกลายรูปแบบนี้ได้ในโควิดสายพันธุ์เบตา ที่ทำให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมีประสิทธิภาพลดลง
R346K และ Y144T ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเนื่องจากยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ไหนที่กลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว
โดยมีการค้นพบเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวแล้วมากกว่า 40 ประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของการติดเชื้อโควิดทั่วโลก
แต่ในกรณีของประเทศโคลอมเบีย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างชิลี โควิดสายพันธุ์มิวได้กลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่พบได้มากถึงประมาณร้อยละ 40 แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวในประเทศไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจในเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของความแตกต่างทางด้านพันธุกรรม ที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโควิดที่ง่ายมากขึ้น เป็นโรคโควิดที่รุนแรงมากขึ้น และเชื้อโควิดนั้นแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขในวงกว้างหรือไม่
แล้วความน่ากังวลต่อโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย) มีมากขนาดไหน
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าโควิดสายพันธุ์มิวมีการกลายพันธุ์ที่หลายตำแหน่ง อาจส่งผลให้การรักษาโรคโควิดในปัจจุบันนั้นอาจไม่ครอบคลุมหรือดีพอที่จะกำจัดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวนี้ได้ รวมไปถึงในกรณีคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดแล้ว ทั้งจากการรับวัคซีนโควิด หรือจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นก็อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิวนี้ได้
วิธีการรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิว (โคลอมเบีย)
ลำพังแค่การฉีดวัคซีนโควิดครบโดส หรือเคยติดเชื้อโควิดมาก่อนนั้นอาจไม่สามารถรับมือกับโควิดสายพันธุ์มิวได้ดีเท่าไหร่ ดังนั้น ทุกคนควรจะปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด เช่น
มีการทำความสะอาดมือและพื้นผิวอยู่ตลอด
สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
งดไปในที่แออัด หรือที่ระบายอากาศไม่ดี เว้นระยะห่างทางสังคม
งดการดื่มน้ำหรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน
พักผ่อนให้เพียงพอ
ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ
เลี่ยงการรับประทานยาหรือสมุนไพรที่ไม่ทราบฤทธิ์ หรือไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าช่วยป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้
หากมีโรคประจำตัวให้รับประทานยาเดิมอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดผ่านระบบทางไกล
ถ้าหากมีอาการไม่สบายตัว หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวจากผู้อื่น หาชุดตรวจแอนติเจนที่ได้ผลเร็ว (Antigen test kit; ATK) หรือไปที่จุดตรวจโรคทางเดินหายใจในสถานพยาบาล หรือจุดให้บริการในชุมชนที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมชนิดพีซีอาร์ทันที
ข้อมูลโดย อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : เว็บไซต์ ramachannel

Chairable Project แก้คิดถึงเก้าอี้ออฟฟิศช่วง WFH
สำหรับคนทำงานออฟฟิศย่อมรู้ดีว่า เก้าอี้ทำงานคือหนึ่งในความผูกพัน ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และ Work From Home ปัญหาที่หลายคนต้องเจอ คือ ปวดเมื่อยเนื้อตัวหลังไหล่ เพราะโต๊ะเก้าอี้ที่บ้านไม่เหมาะสำหรับการนั่งทำงานตลอดทั้งวัน
วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย บริษัทเอเจนซีโฆษณา เลยจัดโครงการ ChairAble Project เชิญชวนให้พนักงานนำเก้าอี้ทำงานที่ออฟฟิศกลับไปใช้ที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวโปรดที่ใช้เป็นประจำ หรือเก้าอี้ในห้องประชุม เพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงาน ที่สำคัญ เก้าอี้เหล่านี้ เป็นเก้าอี้ที่ออกแบบสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิด Work From Home Syndrome ได้ด้วย

“This is a message from your chairman”
.
นี่คือข้อความจาก chairman ของพวกเธอ
หมายถึงเก้าอี้ออฟฟิศนะ ไม่ใช่มัวรีน
เก้าอี้ที่พวกเธอนั่งกันทุกวัน
บางวันเปลี่ยนคู่ สลับชั้นไปมา
บางคน #สายลาก ก็ลากชั้นไปตามที่ต่างๆ
บางคน #สายพาดพิง ก็ชอบพาด ชอบพิง
หรือทั้งเอามือพาดและหลังพิงไปพร้อมกัน (ตีนก็มี)
.
ชั้นยังจำสัมผัสครั้งสุดท้าย ของเธอได้อยู่
มันเป็นวันปาร์ตี้ออฟฟิศ 4 เมษา
พวกเธออยู่ถึงตีสี่
แต่ชั้นอยากให้เธออยู่นานอีกหน่อยยย
และจากวันนั้น… เราก็ไม่เจอกัน
ไม่เจอกันมา 155 วันละนะ
.
รู้มะ…
ชั้นแอบอ่านคอมเมนท์พวกเธอ
จากโต๊ะทำงานที่เปิดหน้าจอไว้
บางคนบ่นปวดหลัง
บางคนบ่นปวดคอ
มันต้องเป็นผล Work From Home Syndrome
อย่างแน่นอนนนน
และอยู่ๆ ก็มีเสียงเล็กๆเสียงนึงในคอมเมนท์
จากน้องชาร์ป หุ่นผอมบาง แต่เสียงอลังการ
ถามว่า “ไปเอาเก้าอี้ออฟฟิศกลับบ้านได้มั๊ย?”
เธอรู้มั๊ย ชั้นดีใจเนื้อเต้นจนน็อตแทบหลุด
.
ชั้นรอคอยวันที่พวกเธอจะกลับมา
กลับมาสัมผัสชั้น ด้วยก้นอันอวบอิ่มของแต่ละคน
(ยิ่ง wfh ไม่รู้ว่าอวบอิ่มกว่าเดิมมั๊ย)
.
มารับชั้นกลับบ้านด้วยนะ
จะมาด้วยรถส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดิน
รถเมล์ แท็กซี่ หรือจะเดินมา… ก็มาดิค้าบ
ชั้นตัวแทนของ เก้าอี้ออฟฟิศ Verve,
Wunderman Thompson, Mirum และ GTB
เก้าอี้ห้องประชุมทุกห้อง
รวมถึงเก้าอี้ห้อง meeting room
และในนามเก้าอี้ส่วนของเธอ… รอ
รอ ให้เธอมารับอยู่ตรง ท่าน้ำชั้น 8 นานละนะ
.
พาเก้าอี้ของคุณกลับบ้านได้ที่
www.chairableproject.com
ดูจากมือถือนะ (Mobile Friendly)
.
From Your Chairman / Chairwomen / Chair For Every Gender and Everyone
.
Chairable Project
เก้าอี้ออฟฟิศที่คิดถึง ตูด คอ บ่า ไหล่
ของพนักงานทุกคน
.
ออฟฟิศอื่นก็เอาไอเดียนี้ไปทำได้นะ
.
#ChairableProject
#ฝากchair
#ยังเจ
ที่มา : แฟนเพจ Wunderman Thompson Thailand

หยุดงาน-ตกงาน-ลาออก เพราะโควิด ประกันสังคมดูแลไหม
สำนักงานประกันสังคมเร่งอนุมัติสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33
โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนใน 15 เดือนย้อนหลังก่อนวันที่ว่างงาน ในรายละเอียดต่างกันไปในแต่ละกรณีดังนี้
✅ 1. กรณีว่างเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เนื่องจากรัฐมีคำสั่งปิดสถานที่ หรือประเภทกิจการตามคำสั่งรัฐเป็นการชั่วคราว และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามประกาศหรือคำสั่งของทางราชการ
(มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563)
✅ 2. กรณีถูกเลิกจ้าง
รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกินปีละ 200 วัน
✅ 3. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนด
รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 45 ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน
โดยคำนวณจากฐานเงินค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง


ศบค.อก. ตีกรอบ BBS คุมโควิด 1.4 แสนโรงงานทั่วประเทศ
ศบค.อก. นัดแรก ตั้งกรอบขับเคลื่อนมาตรการ BBS ในโรงงาน ภาคการผลิตที่ไม่เป็นโรงงาน และแคมป์ก่อสร้าง การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ และแนวทางขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble & Seal (BBS) มาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบกิจการและโรงงานฯ เพื่อรองรับการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเปิดกิจการได้ โดยไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 14/2564 สั่งการ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564 และการประชุมคณะกรรมการ ศบค.อก. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ 1. สถานประกอบกิจการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ศูนย์ฯ จะเข้าไปดูแล และ 2. การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ และแนวทางขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble & Seal (BBS) มาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบกิจการและโรงงานฯ เพื่อรองรับการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เพื่อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมเปิดดำเนินกิจการได้ โดยไม่เกิดการระบาดสู่ชุมชน รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับระบบรับรองบุคคล เพื่อผ่านเข้ากิจการ หรือกิจกรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนและการใช้ชุดตรวจโควิด ATK (Antigen Test Kit)
“เพื่อเปิดธุรกิจอุตสาหกรรมให้สามารถเดินหน้าต่อได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ในส่วนของสถานประกอบการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ ศบค.อก. จะกำกับควบคุม คือ
1. โรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 มีประมาณ 70,000 โรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่ในขณะนี้
2. สถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ที่เดิมยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ กลุ่มนี้มีประมาณ 70,000 โรงงาน ที่ประชุมได้ มอบหมาย กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครดูแล
3. แคมป์คนงาน ข้อมูลในเบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 1,317 แคมป์ ที่ประชุมได้มอบหมาย กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานดูแล ทั้งสามกลุ่มสามารถจะนำมาตรการ BBS ไปประยุกต์ใช้ได้ และทุกหน่วยจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ จะมีการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ฯ อันจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
สำหรับเป้าหมายการดำเนินการของ ศบค.อก. ได้กำหนด ให้สถานประกอบการทั้งสามกลุ่ม มีระดับผลผลิต (Output) ได้รับความรู้ความเข้าใจมาตรการ BBS ประมาณ 140,000 โรงงาน การได้รับคำปรึกษาแนะนำแบบ coaching/Onsite ประมาณ 30,000 โรงงาน และการเข้าร่วมดำเนินการมาตรการ BBS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อเดือน หรือ 3,000 โรงงาน ระดับผลลัพธ์ (Outcome) คือ สถานประกอบการและโรงงานมีการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่าง ต่อเนื่อง
ทั้งนี้จะมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต เข้าไปเป็นวิทยากรแนะนำ ไม่ว่าจะเป็น 1) การทำ BBS 2) การจัดการสภาพแวดล้อม 3) มีการจัดการกิจกรรม/จุดที่มีความเสี่ยงสูง 4) จัดการสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย คัดกรองด้วย ATK และ 5) จัดกิจกรรมและสถานที่ไม่ให้มีความแออัด” นายกอบชัย กล่าว
การเข้าไปดูแลของ ศบค.อก. สอดคล้องกับข้อมูลการติดเชื้อของสถานประกอบกิจการที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูง หาก ศบค. ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จากข้อมูลของ ศบค.อก. วันที่ 13 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งสิ้น 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน
จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เพชรบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร โดย อุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ, และพลาสติก ตามลำดับ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ อีก 2 ชุดเพื่อสนับสนุน ศบค.อก. ได้แก่ คณะทำงานภายในกระทรวงฯ รับผิดชอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรม และคณะทำงานที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดูแลสถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ตลอดจนแคมป์ก่อสร้าง และรับข้อเสนอของเอกชนมาผลักดันนำเสนอรัฐบาลต่อไป สำหรับความต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐที่ได้รับในเบื้องต้น คือ 1) คำแนะนำ/แนวทาง Bubble & Seal 2) การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ ATK และ 3) ด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ครม. ไฟเขียวมาตรการภาษี เอกชนซื้อชุดตรวจ ATK ให้พนักงาน/ลูกจ้าง
ครม. ไฟเขียวมาตรการภาษี เอกชนซื้อชุดตรวจ ATK ให้พนักงาน/ลูกจ้าง นำมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ตั้งแต่วันนี้ -31 มีนาคม 65
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้าง สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50 หรือ 1.5 เท่า ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึง 31 มีนาคม 2565 นี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ศบค. ได้ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) และสนามกีฬา สามารถเปิดให้บริการได้ ประกอบกับในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางตามนโยบาย ศบค. ที่จะเพิ่มการตรวจ ATK ในประชากรโดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจ โควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมกับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ช่วยบรรเทาภาระภาษี สำหรับประชาชน ก็จะช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยลดผลกระทบต้องเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ส่องมาตรการ โรงงานพื้นที่สีแดง สกัดโควิด-19
ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด ลดความเสี่ยงคลัสเตอร์โรงงาน ฉีดวัคซีนให้พนักงาน-คนในครอบครัว พร้อมจัดทำศูนย์พักคอย 108 เตียง รองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจติดเชื้อ
ดร.พิพัฒน์ โกวิทคณิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด จำกัด บริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียม ที่มีการดำเนินงานมาเกือบ 30 ปี เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพ ที่เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจเป็นผลให้พนักงานทั้งที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเป็นคลัสเตอร์โรงงาน ซิมเมอร์ฯ จึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ระบาด ด้วยการเตรียมพร้อมดูแลพนักงานให้ห่างไกลจากความเสี่ยงมากที่สุด เพราะไม่เพียงแค่พนักงานจะปลอดภัย แต่โรงงานก็สามารถไปต่อได้เช่นกัน
โดยสิ่งแรกที่กำหนดให้เป็นมาตรการหลักที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน ด้วยระบบวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ, การตรวจเชิงรุก 100% อย่างต่อเนื่อง (ATK), สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ทั่วทั้งโรงงาน และเว้นระยะห่าง งดการรวมกลุ่มพูดคุยในเวลารับประทานอาหารกลางวัน

เตรียมศูนย์พักคอย เพื่อพนักงานและครอบครัว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรงและปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการเพียงทั่วไปจึงไม่ครอบคลุมความเสี่ยงได้มากพอ การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด จึงเป็นอีกแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ
“การได้รับวัคซีนคือทางออกเดียวที่จะลดอัตราการเจ็บป่วยหนักและสูญเสีย เราเชื่อว่าหากพนักงานได้รับวัคซีนเร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงได้ อีกนัยหนึ่งสายการผลิตก็ไม่ต้องหยุดชะงัก โรงงานก็ไปต่อได้”
ทางบริษัทซิมเมอร์ฯ จึงได้จัดสรรให้พนักงานทั้งหมด 682 คน ได้รับการฉีดวัคซีนคิดเป็น 100% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากพนักงานแล้ว ยังรวมไปถึงครอบครัว คนใกล้ชิดของพนักงาน ผู้ร่วมงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับวัคซีนมากกว่า 1,500 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกัน มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตรวจเชิงรุกด้วยชุด ATK ในทันที กรณีพนักงานมีความเสี่ยง ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เมื่อตรวจพบจะมีการกำหนดให้หยุดงานกักตัว 14 วัน โดยไม่มีการหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง พร้อมให้การดูแลระหว่างการรอเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “กรณีที่พนักงานติดเชื้อ เราได้จัดทำถุงยังชีพ อาหารและยารักษาโรค สำหรับการหยุดกักตัว และพักรักษาตัวที่บ้านหรือ รอเข้าสู่กระบวนการรักษา”
บริษัท ยังมีการจัดทำศูนย์พักคอยที่วิทยาลัยการอาชีพเสนา จำนวน 108 เตียง เพื่อรองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจได้รับการติดเชื้อ
“สภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ ความใส่ใจ ห่วงใย เสมือนเป็นน้ำใจหนึ่งเดียวที่จะเยียวยาจิตใจและเติมพลังให้ครอบครัวซิมเมอร์ฯ ก้าวเดินร่วมกันต่อไปได้อย่างแข็งแรง แม้ดูแล้วหนทางการต่อสู้ครั้งนี้จะอีกยาวไกล แต่ด้วยสิ่งที่ครอบครัวซิมเมอร์ฯ มอบให้กันและกัน ย่อมทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันอย่างไม่ยากเลย” ดร.พิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย


Bubble and seal คุมโควิดในโรงงาน ทำง่าย ได้ผลจริง
กรมควบคุมโรค ชวนโรงงาน ทำบับเบิลแอนด์ซีล ลดความเสี่ยงโควิดทั้งโรงงานได้ เน้นป้องกัน รู้โรคเร็ว ควบคุมง่าย บูรณาการร่วม 3 หน่วยงาน จัดทีมโคชชิ่ง เป็นที่ปรึกษาแก่โรงงาน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 สถานประกอบกิจการและโรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบ กรมควบคุมโรค จึงนำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ควบคุมโรคโควิด 19 ในโรงงาน
โดยออกแบบ 2 ระบบคือระบบการควบคุมโรคซึ่งใช้ในพื้นที่ความคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น จ.สมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคม 2564 แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อ มาแยกกักรักษาตัวที่ รพ.สนามหรือสถานที่แยกกักอื่น ๆ ส่วนพนักงานในโรงงาน ที่สัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย ให้โรงงานจัดที่พักในโรงงานแยกจากครอบครัว ชุมชนและให้สามารถทำงานได้ พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 4 สัปดาห์ จึงได้พัฒนามาสู่ระบบบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อป้องกันโรคในโรงงาน ที่ยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีมากกว่าโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อ
หลังจากที่ดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลพบว่าแทบไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เลย หรือมีก็น้อยมากและสามารถควบคุมได้เร็ว ทั้งแรงงานและโรงงานไม่ต้องหยุดการผลิต พนักงานยังมีรายได้ปกติ โรงงานสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
“อยากเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้จัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค โดยแบ่งกลุ่มพนักงานที่ไลน์การผลิตเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ (small bubble) ไม่ปะปนกัน เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อระหว่างกลุ่ม เนื่องจากจะตรวจสอบและควบคุมได้ จะลดการเกิดโรคโควิด 19 ระบาดทั้งโรงงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน” นายแพทย์อภิชาตกล่าว
นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อไปว่า ทุกโรงงานต้องมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อพนักงานด้วยชุดเอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหรือมากกว่า แรงงานที่ไม่พบการติดเชื้อก็สามารถผลิตต่อไปได้ไม่ต้องหยุด การที่โรงงานได้ทำบับเบิลฯ เพื่อการป้องกันโรคไว้ จะเสมือนว่าเป็นการสร้างกำแพงป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ป้องกันการระบาดเข้าสู่ภายในโรงงาน ในส่วนพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่เข้ากลุ่มที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมระบบที่ปรึกษา (Coaching system) ซึ่งบูรณาการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย มี 3 ระดับคือส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคความรู้ต่างๆ ให้คำปรึกษาการจัดทำระบบต่างๆ ตลอดจนข้อแนะนำต่างๆ แก่ผู้ประกอบการโรงงาน รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อติดตาม ประเมิน กำกับการดำเนินงาน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำบับเบิลแอนด์ซีลรวมทั้งกรณีตัวอย่างเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ www.ddc.moph.go.th เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน

Download คู่มือการระบายอากาศ ลดความเสี่ยงโควิด-19
ดาวน์โหลด E-book คำแนะนำการระบายอากาศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)