
ส่องมาตรการ โรงงานพื้นที่สีแดง สกัดโควิด-19
ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด ลดความเสี่ยงคลัสเตอร์โรงงาน ฉีดวัคซีนให้พนักงาน-คนในครอบครัว พร้อมจัดทำศูนย์พักคอย 108 เตียง รองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจติดเชื้อ
ดร.พิพัฒน์ โกวิทคณิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมเมอร์ เมตัล สแตนดาร์ด จำกัด บริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียม ที่มีการดำเนินงานมาเกือบ 30 ปี เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพ ที่เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจเป็นผลให้พนักงานทั้งที่จังหวัดอยุธยาและกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเป็นคลัสเตอร์โรงงาน ซิมเมอร์ฯ จึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ระบาด ด้วยการเตรียมพร้อมดูแลพนักงานให้ห่างไกลจากความเสี่ยงมากที่สุด เพราะไม่เพียงแค่พนักงานจะปลอดภัย แต่โรงงานก็สามารถไปต่อได้เช่นกัน
โดยสิ่งแรกที่กำหนดให้เป็นมาตรการหลักที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน ด้วยระบบวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ, การตรวจเชิงรุก 100% อย่างต่อเนื่อง (ATK), สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ทั่วทั้งโรงงาน และเว้นระยะห่าง งดการรวมกลุ่มพูดคุยในเวลารับประทานอาหารกลางวัน

เตรียมศูนย์พักคอย เพื่อพนักงานและครอบครัว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรงและปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการเพียงทั่วไปจึงไม่ครอบคลุมความเสี่ยงได้มากพอ การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด จึงเป็นอีกแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ
“การได้รับวัคซีนคือทางออกเดียวที่จะลดอัตราการเจ็บป่วยหนักและสูญเสีย เราเชื่อว่าหากพนักงานได้รับวัคซีนเร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงได้ อีกนัยหนึ่งสายการผลิตก็ไม่ต้องหยุดชะงัก โรงงานก็ไปต่อได้”
ทางบริษัทซิมเมอร์ฯ จึงได้จัดสรรให้พนักงานทั้งหมด 682 คน ได้รับการฉีดวัคซีนคิดเป็น 100% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากพนักงานแล้ว ยังรวมไปถึงครอบครัว คนใกล้ชิดของพนักงาน ผู้ร่วมงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับวัคซีนมากกว่า 1,500 คน เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกัน มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตรวจเชิงรุกด้วยชุด ATK ในทันที กรณีพนักงานมีความเสี่ยง ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เมื่อตรวจพบจะมีการกำหนดให้หยุดงานกักตัว 14 วัน โดยไม่มีการหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง พร้อมให้การดูแลระหว่างการรอเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “กรณีที่พนักงานติดเชื้อ เราได้จัดทำถุงยังชีพ อาหารและยารักษาโรค สำหรับการหยุดกักตัว และพักรักษาตัวที่บ้านหรือ รอเข้าสู่กระบวนการรักษา”
บริษัท ยังมีการจัดทำศูนย์พักคอยที่วิทยาลัยการอาชีพเสนา จำนวน 108 เตียง เพื่อรองรับพนักงานและครอบครัวที่อาจได้รับการติดเชื้อ
“สภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ ความใส่ใจ ห่วงใย เสมือนเป็นน้ำใจหนึ่งเดียวที่จะเยียวยาจิตใจและเติมพลังให้ครอบครัวซิมเมอร์ฯ ก้าวเดินร่วมกันต่อไปได้อย่างแข็งแรง แม้ดูแล้วหนทางการต่อสู้ครั้งนี้จะอีกยาวไกล แต่ด้วยสิ่งที่ครอบครัวซิมเมอร์ฯ มอบให้กันและกัน ย่อมทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันอย่างไม่ยากเลย” ดร.พิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย


Bubble and seal คุมโควิดในโรงงาน ทำง่าย ได้ผลจริง
กรมควบคุมโรค ชวนโรงงาน ทำบับเบิลแอนด์ซีล ลดความเสี่ยงโควิดทั้งโรงงานได้ เน้นป้องกัน รู้โรคเร็ว ควบคุมง่าย บูรณาการร่วม 3 หน่วยงาน จัดทีมโคชชิ่ง เป็นที่ปรึกษาแก่โรงงาน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 สถานประกอบกิจการและโรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบ กรมควบคุมโรค จึงนำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ควบคุมโรคโควิด 19 ในโรงงาน
โดยออกแบบ 2 ระบบคือระบบการควบคุมโรคซึ่งใช้ในพื้นที่ความคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น จ.สมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคม 2564 แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อ มาแยกกักรักษาตัวที่ รพ.สนามหรือสถานที่แยกกักอื่น ๆ ส่วนพนักงานในโรงงาน ที่สัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย ให้โรงงานจัดที่พักในโรงงานแยกจากครอบครัว ชุมชนและให้สามารถทำงานได้ พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 4 สัปดาห์ จึงได้พัฒนามาสู่ระบบบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อป้องกันโรคในโรงงาน ที่ยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีมากกว่าโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อ
หลังจากที่ดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลพบว่าแทบไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เลย หรือมีก็น้อยมากและสามารถควบคุมได้เร็ว ทั้งแรงงานและโรงงานไม่ต้องหยุดการผลิต พนักงานยังมีรายได้ปกติ โรงงานสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
“อยากเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้จัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค โดยแบ่งกลุ่มพนักงานที่ไลน์การผลิตเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ (small bubble) ไม่ปะปนกัน เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อระหว่างกลุ่ม เนื่องจากจะตรวจสอบและควบคุมได้ จะลดการเกิดโรคโควิด 19 ระบาดทั้งโรงงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน” นายแพทย์อภิชาตกล่าว
นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อไปว่า ทุกโรงงานต้องมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อพนักงานด้วยชุดเอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหรือมากกว่า แรงงานที่ไม่พบการติดเชื้อก็สามารถผลิตต่อไปได้ไม่ต้องหยุด การที่โรงงานได้ทำบับเบิลฯ เพื่อการป้องกันโรคไว้ จะเสมือนว่าเป็นการสร้างกำแพงป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ป้องกันการระบาดเข้าสู่ภายในโรงงาน ในส่วนพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่เข้ากลุ่มที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมระบบที่ปรึกษา (Coaching system) ซึ่งบูรณาการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย มี 3 ระดับคือส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคความรู้ต่างๆ ให้คำปรึกษาการจัดทำระบบต่างๆ ตลอดจนข้อแนะนำต่างๆ แก่ผู้ประกอบการโรงงาน รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อติดตาม ประเมิน กำกับการดำเนินงาน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำบับเบิลแอนด์ซีลรวมทั้งกรณีตัวอย่างเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ www.ddc.moph.go.th เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน

เดินหน้า Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่น ปลอดโควิด-19
ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการ Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่นคน ปลอดโควิด19 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด19
สำหรับการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ 3.อาหาร และ 4.อุปกรณ์การแพทย์ โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญคือ
1.ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1) สถานแยกกักตัว (Factory Isolation: FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแล ดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

เบื้องต้น ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันได้จำนวน 9.2 หมื่นคน
นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน
นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการ Factory Sandbox นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ
1) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท
2) ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
4) รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ