
เดินหน้า Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่น ปลอดโควิด-19
ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการ Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่นคน ปลอดโควิด19 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด19
สำหรับการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ 3.อาหาร และ 4.อุปกรณ์การแพทย์ โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญคือ
1.ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1) สถานแยกกักตัว (Factory Isolation: FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแล ดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

เบื้องต้น ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันได้จำนวน 9.2 หมื่นคน
นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน
นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการ Factory Sandbox นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ
1) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท
2) ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
4) รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ

กทม. เปิดโรงพยาบาลสนาม รองรับเด็กพิเศษ ติดเชื้อโควิด
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และองค์กรคนพิการ จัดตั้ง “โรงพยาบาลสนามราชานุกูล เพื่อเด็กพิเศษและครอบครัว โดยจะเป็นโรงพยาบาลสนามที่รองรับเด็กพิเศษ ประเภทที่ 5,6,7 (เด็กพิการสติปัญญาบกพร่อง ออทิสติก สมาธิสั้น และบกพร่องการเรียนรู้) พร้อมสมาชิกในครอบครัวที่อายุไม่เกิน 60 ปี ที่ติดเชื้อโควิด และมีผลการตรวจโควิดด้วย Antigen test kit เป็นบวก แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ที่สามารถสื่อสารได้เข้าใจ และสมาชิกในครอบครัวที่สามารถดูแลเด็กได้



โรงพยาบาลสนามที่รองรับเด็กพิเศษแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่สถาบันราชานุกูล บริเวณโรงเรียนราชานุกูล เขตดินแดง จำนวน 2 อาคาร ได้แก่ อาคารโรงเรียนราชานุกูล และอาคารม่วงนพรัตน์ ซึ่งเบื้องต้นสามารถ รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 100 เตียง ส่วนด้านการจัดการรักษา ทางสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานหลักในด้านการดูแลรักษา ร่วมกับสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี และโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ โดยการสนับสนุนทีมผู้ดูแลรักษามืออาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อใช้ติดตามอาการเด็กพิเศษอย่างใกล้ชิด และ การเอกซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอาการตลอดเวลา รวมถึงการวางแผนการส่งต่อในกรณีฉุกเฉิน
ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามเพื่อเด็กพิเศษโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก ที่จะรับดูแล รักษาเด็กพิเศษที่ติดเชื้อโควิด พร้อมครอบครัว แบบครบวงจร โดยคำนึงถึงการรักษาทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจเด็กพิเศษร่วมด้วย เพื่อให้เด็กอุ่นใจ คลายความกังวล และเมื่อหายป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติพร้อมกับผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลในครอบครัวได้
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการขอความช่วยเหลือ หรือต้องการประสานส่งต่อเข้ารับการรักษา โรงพยาบาลสนามราชานุกูล สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 084-107-8129 , 065-885-0584 และ 097-078-0696 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา : สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร