
WFH ชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น กุญแจสำคัญสร้างคุณภาพชีวิตพ่อแม่มนุษย์งานยุคโควิด

เรื่อง WFH และมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น อยากให้พนักงานที่มีลูกเล็กได้ใช้ใน 3 ปีแรกเลยเพื่อการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพที่ดี ถ้าไม่สามารถให้ในเรื่องนี้ได้ การมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ก็พอจะตอบโจทย์แทนได้
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งรูปแบบการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รู้จักกับการทำงานวิถีใหม่ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนอกจากเป็นนักวิจัย ยังมีอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่คือคุณแม่ลูกสอง ผู้สนใจเรื่อง work-life balance และนโยบายส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย จะมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องทำงาน ต้องดูแลลูกในยุคโควิด รวมทั้งนำเสนอแนวคิดที่สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน
ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นความต้องการของครอบครัวได้ชัดเจนขึ้นหรือไม่ ในแง่ใดบ้าง
ผศ.ดร.มนสิการ – ภาพต่าง ๆ ปรากฎชัดขึ้น กลุ่มคนที่ลักษณะการทำงานสามารถ WFH ได้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วแต่ว่าลูกอยู่ในวัยไหน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกต่ำกว่า 1 ขวบ WFH ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับแม่หลายคน ถึงยังไม่มีงานวิจัยอย่างจริงจังแต่จากที่ได้สัมภาษณ์จากคนรู้จัก 4 ครอบครัว พบว่าแม่ 3 ใน 4 เป็นคนทำงาน และมีลูกในช่วงโควิด เขาคิดไว้ว่าเมื่อลาคลอดครบ 3 เดือนแล้วจะลาออกจากงานเพราะยังไม่พร้อมไปทำงาน แต่พอมี WFH ทำให้เขาสามารถทำงานได้และเลี้ยงลูกไปด้วยได้ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องขยายเวลาในการลาคลอด ทำให้แม่สามารถบาลานซ์การเลี้ยงดูลูกและการทำงาน ไปด้วยกันได้
แต่ถ้าลูกอยู่ในวัย 2-6 ขวบ ที่ต้องเรียนออนไลน์ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะทำงานไม่ค่อยได้มากนัก เพราะอาจต้องมีส่วนร่วมในการเรียนกับลูกไปด้วย ถ้าลูก 7 ขวบไปแล้ว ก็ปล่อยเรียนด้วยตัวเองได้ เราก็นั่งทำงานอีกห้องหนึ่งแล้วเข้ามาคอยดูเป็นระยะ และถ้าไม่ได้ WFH ใครจะช่วยดูลูก ไปโรงเรียนก็ไม่ได้เพราะกลัวโควิด สถานการณ์นี้ทำให้เห็นความต้องการของครอบครัวได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากงานวิจัยที่อาจารย์เคยศึกษาเกี่ยวกับการเป็นแม่และการทำงาน ได้พัฒนาต่อ หรือมองเห็นแง่มุมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผศ.ดร.มนสิการ – ยังไม่ได้ทำเพิ่ม แต่มองว่าควรศึกษาเพิ่มเติมในมุมมองของสถานประกอบการ คือ มาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น WFH เรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น สถานเลี้ยงดูเด็กในสถานประกอบการ การมีมาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือต่อความผูกพันต่อองค์กรหรือไม่ ถ้าเรามีคำตอบตรงนี้อย่างชัดเจนอาจช่วยโน้มน้าวสถานประกอบการได้ดีขึ้น ในแง่ของนักวิจัยสิ่งที่เราสนใจด้วยคือ แล้วจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวจริงหรือไม่
ถ้าเราได้คำตอบเป็นตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดเจนจากสถานประกอบการ สามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นาน ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดว่าการผลักดันให้เกิดมาตรการเหล่านี้จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมีการศึกษาลึกลงไปในแต่ละเรื่องด้วย อย่างต่างประเทศให้ WFH 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในออฟฟิศบ้าง ส่วนของไทยคงต้องดูว่ากี่วันถึงจะเหมาะที่สุด

สถานการณ์โควิดที่ยังไม่เห็นทางจบ สร้างผลกระทบกับผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.มนสิการ – ช่วงโควิดเป็นภาวะวิกฤติของหลายครอบครัวจริง ๆ มีความเครียดในครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหางาน เศรษฐกิจ ต้องรับภาระแทนโรงเรียนในเรื่องการดูแลเด็ก ถ้ามองในมุมของความเป็นแม่ กังวลสุดคือ เรื่องการที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กวัย 5-6 ขวบ เขาต้องเริ่มมีพัฒนาการที่ดี ต้องเรียนการอ่าน การเขียน ซึ่งเราต้องมาเป็นคนเสริมให้เอง ทั้งที่เราก็ทำงาน แต่ส่วนที่เราทำให้เขาไม่ได้คือ การเข้าสังคม เด็กต้องมีการเล่นกับคนอื่น การแบ่งปันของ การรอคอย เพราะการที่เด็กอยู่บ้านมีปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง เขาจะเอาใจเด็กกันเต็มที่ก็เป็นปัญหากับเด็กได้ แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่จำเป็น จัดการอะไรยาก ครอบครัวต้องปรับตัวกันไป
สมาชิกในครอบครัวควรมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันอย่างไรในภาวะเช่นนี้
ผศ.ดร.มนสิการ – อยากให้บทบาทของพ่อและแม่มีความเท่ากันมากขึ้น ในภาพรวม เช่น การเลี้ยงลูก ผู้ชายอาจพูดว่า “เดี๋ยวพ่อมาช่วยแม่นะ” นั่นหมายความว่า เป็นงานหลักของแม่ แต่พ่อมาช่วยในบางส่วน แต่จริงๆ คือเป็นงานของทั้งคู่ที่ต้องทำร่วมกันไม่ใช่มาแค่แบ่งเบา หรือมองว่าการเลี้ยงลูกคืองานของแม่อย่างเดียว ช่วงโควิด แม่ทำงานด้วย ทำงานบ้านด้วย และดูแลลูกมากขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่ามีปัญหาด้านบาลานซ์มากอยู่แล้ว เพราะงานงอกมาในส่วนของแม่อย่างเดียว จึงควรมองว่าหน้าที่การดูแลลูกเป็นของพ่อแม่ทั้งคู่
การมีนโยบายให้ผู้ชายลาเลี้ยงดูลูก จะช่วยส่งเสริมบทบาทของพ่อได้มากขึ้นไหม
ผศ.ดร.มนสิการ – เป็นสิ่งที่อยากส่งเสริมให้มีมากขึ้น เป็นก้าวสำคัญที่จะประกาศให้สังคมและคนทั่วไปรับรู้ว่าการเลี้ยงลูกนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อด้วย และอยากให้มีการใช้นโยบายนี้เพิ่มขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีให้พ่อแม่ลาได้เท่า ๆ กัน จะเห็นภาพพ่อมาลูกมาเดินเล่นตามสวนสาธารณะค่อนข้างเยอะ มีการศึกษาพบว่าครอบครัวที่พ่อใช้วันลามาดูแลลูกได้เยอะ เพิ่มโอกาสในการมีลูกคนที่สองมากขึ้น คือ ส่วนใหญ่คนที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มคือผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเหนื่อยกับภาระต่าง ๆ แต่เมื่อผู้ชายได้รับสิทธิลามาช่วยดูแลลูกมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้อยากมีลูกคนที่สองเพิ่มขึ้น แต่ในเมืองไทย ค่านิยมเรื่องให้พ่อลามาช่วยเลี้ยงลูก ผู้ชายส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก ก็หวังอยากให้พัฒนาความคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้นในอนาคต
สังคมไทยเผชิญปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลง การมีมาตรการสนับสนุนครอบครัวที่มีลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อาจเป็นการจูงใจให้ครอบครัวมีลูกเพิ่มได้ทางหนึ่ง หรือไม่
ผศ.ดร.มนสิการ – เรามีอัตราการเกิดน้อยลงอย่างรวดเร็วทำให้สัดส่วนเด็กมีน้อยลงอย่างมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อีกไม่นานประเทศเราจะมีสัดส่วนของคนทำงานน้อยเมื่อเทียบกับวัยผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินดูแลตัวเองมากนัก ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็ก จึงควรส่งเสริมให้คนที่มีลูกคนแรกให้อยากมีลูกคนที่สองต่อ น่าจะง่ายกว่าไปส่งเสริมคนที่ไม่เคยมีลูกมาก่อนเพราะเขาไม่อยากมีอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลายเรื่อง อาจต้องเปลี่ยนงาน หรือออกจากงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ห่วงลูกที่ต้องอยู่ในสังคมที่ไม่ปลอดภัย
แต่ถ้ามีลูกคนแรก เขาเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ปัจจัยที่มีผลต่อการมีลูกคนที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้สามารถหาทางส่งเสริมได้ไม่ยาก เช่น ที่สิงคโปร์มี Baby Bonus สำหรับลูกคนแรก พอมีลูกคนที่สองก็เพิ่มเงินให้เยอะมากขึ้น ถ้าเรามีนโยบายช่วยเรื่องค่าเล่าเรียนให้ลูกคนที่สอง ก็อาจช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวอยากมีลูกเพิ่มขึ้นได้
มองมาตรการใดที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานโดยการสร้างสมดุลครอบครัวเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.มนสิการ – การมีศูนย์เลี้ยงเด็กที่สถานประกอบการ เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นสิ่งที่คนทำงานน่าจะต้องการมาก เพราะถ้ามีคนเลี้ยงที่ดีและเขาสามารถแวะมาดูลูกตอนพักเบรกได้ จะรู้สึกอุ่นใจมาก ส่วนเรื่อง WFH และ มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น อยากให้พนักงานที่มีลูกเล็กได้ใช้ใน 3 ปีแรกเลยเพื่อการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพที่ดี ถ้าไม่สามารถให้ในเรื่องนี้ได้ การมีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ก็พอจะตอบโจทย์แทนได้
ภาครัฐอาจเข้ามาช่วยส่งเสริมในเรื่องการลาคลอดอีกทางเลือก คือ ถ้าใครต้องการลายาวหน่อยอาจได้ค่าตอบแทนน้อย ถ้าลาสั้นก็ได้ค่าตอบแทนต่อเดือนมากหน่อย เพื่อความเป็นไปได้ในเรื่องของงบประมาณที่จะมาสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งความเหมาะสมในการให้ลาคลอดควรอยู่ที่ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ให้ลูกได้กินนมแม่ครบ 6 เดือน

DOWNLOAD คู่มือครอบครัวเป็นสุข ยุค New normal
ในสถานการณ์ new normal สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ work from home ของพ่อแม่ และการเรียนออนไลน์ของลูก ทำให้แต่ละคนต้องมีหลายบทบาทพร้อมๆ กัน เช่น เป็นแม่-หัวหน้างาน เป็นพ่อ-เพื่อนร่วมงาน เป็นลูก-นักเรียนออนไลน์ เป็นต้น บทบาทที่หลากหลาย บางครั้งก็ไม่ไปด้วยกัน ย่อมส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ไม่น้อย จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันในครอบครัว
“คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก” จะช่วยให้แนวทางสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกัน พร้อมกับเติมความเข้าใจ และรู้จักคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
คลิ๊กดาวน์โหลด “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก”

ท้องถิ่น-เอกชน สหรัฐฯ จัดผู้สูงอายุดูแลเด็ก รับกระแส WFH
พฤติกรรมการทำงานของผู้คนในอเมริกาที่เปลี่ยนมาทำงานจากบ้านกันมากขึ้น ได้เปิดประตูแห่งโอกาสในการย้ายเมืองย้ายรัฐ และทำให้เมืองเล็ก ๆ ในอเมริกาได้รับความสนใจมากขึ้น ล่าสุด เมืองชนบทในรัฐอินเดียนา เปิดตัวบริการ ปู่ย่าตายายสแตนอิน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลบุตรหลานของผู้ที่ย้ายมาอยู่ใหม่ในเมืองนี้
หลายร้อยครอบครัวสนใจที่จะย้ายไปอยู่ที่เมืองชนบททางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐอินเดียนา หลังจากที่เมืองนี้จัดให้มี “ปู่ย่าตายาย” ตัวสำรอง หรือคนที่ช่วยทำหน้าที่เป็นปู่ย่าตายายคอยดูแลบุตรหลานของตน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มุ่งดึงดูดบรรดาคนทำงานจากทางไกล
Tami และ Dan Wenning คู่สามีภรรยาในพื้นที่อาสาที่จะทำหน้าที่เป็นปู่ย่าตายายให้กับเด็ก ๆ จากห้าครอบครัวแรกที่ตกลงจะย้ายมาอยู่ที่เมืองกรีนส์เบิร์กภายใต้โครงการนี้ Tami กล่าวว่าถ้าหากมีคนย้ายมาอยู่มากขึ้น ผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ในชุมชนก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
เมืองกรีนส์เบิร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากอินเดียนาโพลิสไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 80.47 กิโลเมตร จะมีบริการรับเลี้ยงเด็กฟรีเป็นเวลา 6 ถึง 12 เดือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า “ปู่ย่าตายาย พร้อมให้บริการ” นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังจะมีคุณตาคุณยายตัวแทนช่วยไปที่โรงเรียนในวัน Grandparents Day ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากครอบครัวอีกด้วย

Evan Hock ผู้ร่วมก่อตั้ง MakeMyMove ในอินเดียนาโพลิส ซึ่งเป็นบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทำงานทางไกลกับข้อเสนอดังกล่าวที่อยู่ทั่วประเทศกล่าวว่า เพียงสองสัปดาห์หลังจากเปิดตัวโครงการนี้ ก็มีผู้สมัครมากกว่า 1,000 ราย โดย 70% ของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นคนทำงานทางไกล Hock กล่าวว่าข้อเสนอที่ไม่เหมือนใครนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากมาย และขณะนี้มีการพิจารณาเพื่อขยายโครงการที่เมืองกรีนส์เบิร์ก โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของที่อยู่อาศัย
Tami Wenning วัย 57 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ผ่านการทำงานในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิ Decatur County Community Foundation เล่าว่าเธออาศัยอยู่ที่เมืองนี้มาทั้งชีวิต และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ช่วยทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่า เมืองนี้เป็นสถานที่สมบูรณ์แบบสำหรับการสร้างครอบครัว โดยเธอไม่คิดว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ไม่มีคนรู้จักให้พึ่งพาอาศัยได้
Evan Hock คาดว่าโควต้าที่จัดให้ห้าครอบครัวแรกที่สมัครไปอยู่ในกรีนส์เบิร์กกำลังจะได้รับการจัดสรรในอีก 30 วัน และผู้ที่จะย้ายมาอยู่ใหม่จะได้รับความช่วยเหลือในการย้ายเข้าเมืองในอีกสองหรือสามเดือนข้างหน้านี้
ทั้งนี้ แพคเกจที่เป็นข้อเสนอสำหรับการย้ายไปอยู่ที่กรีนส์เบิร์ก ได้แก่เงินสด 5,000 ดอลลาร์ ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารโฮมเมดที่บ้านของเพื่อนบ้าน ได้เป็นสมาชิก YMCA ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันเป็นเวลา 1 ปี ได้บัตรของขวัญตลาดเกษตรกรตามฤดูกาล และได้ตั๋วเข้าชมการแสดงต่าง ๆ ที่โรงละครในท้องถิ่น
แพคเกจดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อดึงดูดให้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานทางไกลที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มสำหรับคนทำงานทั่วประเทศที่ย้ายไปยังชุมชนเล็ก ๆ ที่มีค่าครองชีพที่ถูกกว่า
Joshua Marsh นายกเทศมนตรีเมืองกรีนส์เบิร์กกล่าวว่า เมื่อผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เป้าหมายก็คือการทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเหมือนอยู่มานาน และช่วยให้ประสบความสำเร็จเมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองนี้
นอกจากนี้ชุมชนอื่น ๆ อีกหลายสิบแห่งในรัฐอินเดียนาก็มีโครงการเพื่อจูงใจคนทำงานที่มีความรู้ มีการศึกษา และมีรายได้สูงให้ย้ายไปอยู่ที่เมืองของตนเช่น เขตเดวี่ส์ และ กรีนน์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของรัฐอินเดียนาซึ่งจะมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์แก่ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชน ส่วนบลูมมิงตัน และ เวสท์ ลาฟาแยต ซึ่งเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งก็เสนอโอกาสการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่ทำงานร่วมกันและโอกาสในการสร้างเครือข่ายด้วย
ส่วนรัฐอื่น ๆ เช่นที่เมืองออกัสตา ในรัฐเมน เมืองนิวตัน รัฐไอโอวา และเมืองมอร์แกนทาวน์ รัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย เสนอเงินระหว่าง 12,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ สำหรับรูธเทอร์ฟอร์ดเคาน์ตี้ รัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Middle Tennessee State University จะช่วยนักศึกษาชำระหนี้ที่กู้มาเรียนจำนวน 10,000 ดอลลาร์ ส่วนที่เมืองสติลวอเตอร์ รัฐโอคลาโฮมา มีข้อเสนอด้านการเงินควบคู่ไปกับการดื่มกาแฟฟรีเป็นเวลาหนึ่งปี และให้เข้าชั้นเรียนศิลปะการต่อสู้ฟรีหนึ่งเดือน เป็นต้น
Evan Hock ผู้ร่วมก่อตั้ง MakeMyMove กล่าวส่งท้ายว่าการย้ายถิ่นฐานของคนทำงานทางไกล จากเขตเมืองใหญ่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่นเมืองกรีนส์เบิร์กด้วยเหตุผลจากสถานการณ์โรคระบาดใหญ่นั้นเป็นแนวโน้มที่จะคงอยู่ไปอีกยาวนาน ซึ่งจะเป็นการช่วยให้คนทำงานหลายล้านคนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตใหม่ ๆ และได้เสรีภาพของการทำงานจากที่บ้านอีกด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ VOA Thai

Chairable Project แก้คิดถึงเก้าอี้ออฟฟิศช่วง WFH
สำหรับคนทำงานออฟฟิศย่อมรู้ดีว่า เก้าอี้ทำงานคือหนึ่งในความผูกพัน ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และ Work From Home ปัญหาที่หลายคนต้องเจอ คือ ปวดเมื่อยเนื้อตัวหลังไหล่ เพราะโต๊ะเก้าอี้ที่บ้านไม่เหมาะสำหรับการนั่งทำงานตลอดทั้งวัน
วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย บริษัทเอเจนซีโฆษณา เลยจัดโครงการ ChairAble Project เชิญชวนให้พนักงานนำเก้าอี้ทำงานที่ออฟฟิศกลับไปใช้ที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวโปรดที่ใช้เป็นประจำ หรือเก้าอี้ในห้องประชุม เพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงาน ที่สำคัญ เก้าอี้เหล่านี้ เป็นเก้าอี้ที่ออกแบบสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิด Work From Home Syndrome ได้ด้วย

“This is a message from your chairman”
.
นี่คือข้อความจาก chairman ของพวกเธอ
หมายถึงเก้าอี้ออฟฟิศนะ ไม่ใช่มัวรีน
เก้าอี้ที่พวกเธอนั่งกันทุกวัน
บางวันเปลี่ยนคู่ สลับชั้นไปมา
บางคน #สายลาก ก็ลากชั้นไปตามที่ต่างๆ
บางคน #สายพาดพิง ก็ชอบพาด ชอบพิง
หรือทั้งเอามือพาดและหลังพิงไปพร้อมกัน (ตีนก็มี)
.
ชั้นยังจำสัมผัสครั้งสุดท้าย ของเธอได้อยู่
มันเป็นวันปาร์ตี้ออฟฟิศ 4 เมษา
พวกเธออยู่ถึงตีสี่
แต่ชั้นอยากให้เธออยู่นานอีกหน่อยยย
และจากวันนั้น… เราก็ไม่เจอกัน
ไม่เจอกันมา 155 วันละนะ
.
รู้มะ…
ชั้นแอบอ่านคอมเมนท์พวกเธอ
จากโต๊ะทำงานที่เปิดหน้าจอไว้
บางคนบ่นปวดหลัง
บางคนบ่นปวดคอ
มันต้องเป็นผล Work From Home Syndrome
อย่างแน่นอนนนน
และอยู่ๆ ก็มีเสียงเล็กๆเสียงนึงในคอมเมนท์
จากน้องชาร์ป หุ่นผอมบาง แต่เสียงอลังการ
ถามว่า “ไปเอาเก้าอี้ออฟฟิศกลับบ้านได้มั๊ย?”
เธอรู้มั๊ย ชั้นดีใจเนื้อเต้นจนน็อตแทบหลุด
.
ชั้นรอคอยวันที่พวกเธอจะกลับมา
กลับมาสัมผัสชั้น ด้วยก้นอันอวบอิ่มของแต่ละคน
(ยิ่ง wfh ไม่รู้ว่าอวบอิ่มกว่าเดิมมั๊ย)
.
มารับชั้นกลับบ้านด้วยนะ
จะมาด้วยรถส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดิน
รถเมล์ แท็กซี่ หรือจะเดินมา… ก็มาดิค้าบ
ชั้นตัวแทนของ เก้าอี้ออฟฟิศ Verve,
Wunderman Thompson, Mirum และ GTB
เก้าอี้ห้องประชุมทุกห้อง
รวมถึงเก้าอี้ห้อง meeting room
และในนามเก้าอี้ส่วนของเธอ… รอ
รอ ให้เธอมารับอยู่ตรง ท่าน้ำชั้น 8 นานละนะ
.
พาเก้าอี้ของคุณกลับบ้านได้ที่
www.chairableproject.com
ดูจากมือถือนะ (Mobile Friendly)
.
From Your Chairman / Chairwomen / Chair For Every Gender and Everyone
.
Chairable Project
เก้าอี้ออฟฟิศที่คิดถึง ตูด คอ บ่า ไหล่
ของพนักงานทุกคน
.
ออฟฟิศอื่นก็เอาไอเดียนี้ไปทำได้นะ
.
#ChairableProject
#ฝากchair
#ยังเจ
ที่มา : แฟนเพจ Wunderman Thompson Thailand

เจาะ 5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย WFH สนุก มีประสิทธิภาพ
5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย สร้าง Happy Digital Workplace เน้นสะดวก ดูแลสุขภาพกาย-ใจ รักษาความสัมพันธ์ เติมทักษะต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กลายเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้สำหรับหลายคน
LINE ประเทศไทย มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace
1. ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
2. ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
3. ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
4. ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
5. การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย


โอกาสจากวิกฤตโควิด องค์กรยุคใหม่ได้วิธีจัดการ พนักงานแบกภาระครอบครัว
แฮร์ริส โพลล์ สำรวจการจ้างงานกลุ่มลูกจ้างที่เป็นพ่อแม่ในประเทศแคนาดา พบว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนทำงานที่ต้องดูแลครอบครัว จากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องทำงานจากที่บ้าน และพนักงานจำนวนมากไม่สามารถรับมือการทำงานไปพร้อมกับการดูแลครอบครัวได้
ผลสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของบริษัทในแคนาดา รายงานว่าในช่วงที่ต้องทำงานจากที่บ้าน บริษัทต้องประสบปัญหาพนักงานขอลาหยุดกันบ่อยมาก ด้วยเหตุผลเรื่องความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยร้อยละ 20 ต้องดูแลลูก ส่วนอีกร้อยละ 14 ดูแลสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว

1 ใน 3 ของบริษัทที่เป็นกลุ่มสำรวจระบุว่า พนักงานร้อยละ 36 ขอปรับเวลาการทำงาน และอีกร้อยละ 33 ขอลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะความจำเป็นเรื่องครอบครัว นอกจากนี้ พนักงานบางรายขอพักงานโดยไม่รับค่าจ้างไปเลยก็มี
การสำรวจในครั้งนี้ ยังสอบถามความคิดเห็นของคนทำงาน ร้อยละ 27 ตอบว่า คนทำงานที่เป็นแม่ได้ผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรง อีกร้อยละ 6 ตอบว่าคนทำงานที่เป็นพ่อได้รับผลกระทบรุนแรง และเกินครึ่งเห็นว่าทั้งคนที่เป็นพ่อและแม่ต่างก็ได้รับผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงพอ ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากการลาเพื่อดูแลครอบครัวในช่วงโควิด-19 เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
กลุ่มสำรวจที่เป็นผู้หญิงหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า เวลาที่ต้องทำงานจากที่บ้าน สิ่งที่พวกเธอต้องรับมือพร้อมไปกับการทำงานก็คือความรับผิดชอบเรื่องงานบ้าน ทั้งการจัดการลูกที่เรียนออนไลน์ รวมถึงภารกิจยุ่งวุ่นวายอื่น ๆ ในบ้าน จนหลายคนรู้สึกว่าเอาไม่อยู่ จึงต้องขอลาหยุด ทำให้เพื่อนร่วมงานที่มีภาระน้อยกว่าต้องมาช่วยทำงานแทน

ทีมวิจัยชี้ว่า วิกฤตโควิดขยายให้เห็นปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเพศในตลาดแรงงานชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่คนทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เช่น งานบริการ ท่องเที่ยว ค้าปลีก
หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู เจ้าของกิจการจำนวนหนึ่งปรับรูปแบบการทำงาน โดยลดจำนวนพนักงานให้น้อยลงกว่าช่วงก่อนวิกฤต ซึ่งก็จะทำให้พนักงานที่พักงานไปไม่ได้กลับมาทำงานตามเดิม หรือคนที่ขอลดชั่วโมงการทำงานลง กลายเป็นมาตรการระยะยาว ทำให้ค่าตอบแทนพลอยลดลงไปด้วย เจ้าของธุรกิจจำนวนหนึ่งมองว่า ผู้หญิงที่มีภาระครอบครัวขาดความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับตัวกับการทำงานที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยก็พบประเด็นน่าสนใจว่า มีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่มีวิธีการทำงานในช่วงล็อกดาวน์ที่ต่างออกไป ทำให้ได้มุมมองแตกต่างออกไปด้วย โดยเห็นว่า การทำงานต่างหากที่น่าจะยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
บริษัทเหล่านี้เล็งเห็นว่าคนทำงานที่เป็นพ่อแม่เป็นกำลังสำคัญขององค์กร และในช่วงโควิดที่ต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องนับ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แบบในอดีต รวมทั้งไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศให้เสียเวลา แต่การเปิดให้พนักงานสามารถบริหารจัดการเวลาได้เอง และมีการนำเทคโนโลยีมาเสริมการทำงานทางไกลก็จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทีมงานยังติดต่อสื่อสารกันได้ และองค์กรได้ผลงานคุณภาพสูง ในปริมาณมากกว่าการทำงานแบบเดิม ๆ เพียงแต่บริษัทจะต้องเปลี่ยนมุมมองการทำงานใหม่ โดยลดความเข้มงวดเรื่องเวลาและวิธีการลง แต่หันไปให้ความสำคัญกับผลงานเพิ่มขึ้น
ที่มา : www.globenewswire.com

แนะ 6 เทคนิค ลดเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
กรมอนามัยห่วง นโยบาย Work From Home ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลคนทำงานมีปัญหาสุขภาพ จากสถานที่ และอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม แนะ 6 วิธีปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงจากอาการออฟฟิศซินโดรม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อขอความร่วมมือให้คนไทยอยู่บ้าน งดการเดินทาง หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ วัยทำงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงาน อีกทั้งอุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ตามมาได้
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ไม่เต็มร้อย รวมถึงอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อน ไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นและนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการ ใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

ทั้งนี้ วัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้
1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย
2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง
4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
5) กินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่
6) ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย

EU ห่วงผลกระทบ WFH เตรียมร่างคู่มือความปลอดภัย
คณะกรรมการยุโรป เตรียมทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยในที่ทำงาน ให้ครอบคลุมการทำงานจากที่บ้าน ระบุ WFH เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงด้านสุขภาพ จิตวิทยา และสังคม
บรัสเซลส์, ภายหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คนทำงานทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยองค์กรต่างๆ ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น (Work From Home) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป พบว่าคนทำงานราว 40 เปอร์เซ็นต์มีการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการยุโรป (European Commission – EC) มีการเตรียมปรับปรุงเกณฑ์ด้านความปลอดภัยในที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)
คณะกรรมการยุโรปมีการเสนอให้ทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ หน้าจอมอนิเตอร์ การสัมผัสสารเคมี ที่เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ไอทีสมัยใหม่ ซึ่งถูกนำมาใช้ในบ้านเรือนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการกำหนดให้มีทางออกฉุกเฉิน และการระบายอากาศอย่างเหมาะสม
วัลดิส ดอมบรอฟสกี รองประธานกรรมการยุโรป กล่าวว่า แนวคิดเรื่องสถานที่ทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ จิตวิทยา และสังคม

คณะกรรมการยุโรปจะจัดทำคู่มือความปลอดภัยในการทำงานฉบับใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้ระหว่างปี ค.ศ. 2021-2027 โดยมีการระบุถึงคำแนะนำด้านสุขภาพจิตของคนทำงานเกือบ 170 ล้านคนในสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทำงานราว 84 ล้านคนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา
รายงานของคณะกรรมการยุโรป ระบุว่า อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยที่เกิดจากสาเหตุเกี่ยวกับการทำงาน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้อียูมากกว่า 3.3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าจีดีพี และมีการประเมินว่าทุก 1 ยูโรที่ลงทุนด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย จะได้ผลตอบแทนกลับคืนมาให้แก่นายจ้างถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับการลาป่วยของลูกจ้าง
คณะกรรมการยุโรประบุด้วยว่า ต้องการให้สหภาพแรงงานและองค์กรตัวแทนนายจ้างร่วมกันเจรจาต่อรองข้อตกลงว่าด้วยการเปิดรับสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยทางอียูอาจผลักดันให้มีข้อเสนอเรื่องนี้ออกมาภายในปีหน้าด้วย
ที่มา : www.reuters.com

ส่องมาตรการ “แสนสิริ” ดูแลคนทำงานและครอบครัว ในช่วงโควิด
“แสนสิริ” ซื้อประกันโควิด-19 ให้พนักงาน 4,000 คน สั่ง WFH 100% ลดความเสี่ยงจากการเดินทาง พร้อมตั้ง Sansiri Care Relief Fund ดูแลไปถึงครอบครัวของแม่บ้าน รปภ. ทีมช่าง
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริได้การประกาศแผนการดูแลพนักงานแสนสิริ และบริษัทฯ ในเครือจำนวนกว่า 4,000 คน ด้วยการจัดซื้อประกันภัยโควิด-19 ครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงเงิน 100,000 บาท และกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนคณะผู้บริหารเริ่มต้นที่ 5 ล้านบาท จัดตั้ง กองทุน Sansiri Care Relief Fund เพื่อดูแลครอบคลุมไปถึงครอบครัวพนักงานของพันธมิตรอย่าง แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และทีมช่าง ซึ่งเป็นด่านหน้าของการเผชิญความเสี่ยงการติดเชื้อ จากการดูแลลูกค้าและลูกบ้านกว่า 120,000 ครอบครัว ในกรณีที่พนักงานได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ หรือสมาชิกในครอบครัวของพนักงานตกงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างไร้กังวล

ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ กล่าวต่อไปว่า แม้การระบาดของโควิด-19 ยังมีความรุนแรง แสนสิริมุ่งเน้นความต่อเนื่องทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยสูงสุดของพนักงาน ออกนโนบาย Work from Home ให้พนักงานที่ปฏิบัติการที่สิริ แคมปัส และใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทาง สามารถทำงานจากที่บ้าน 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ที่มียานพาหนะส่วนตัวสามารถสลับมาเข้าทำงานที่สำนักงานแต่ในเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ที่สิริ แคมปัส ยังมีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Rapid Test โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดจุดคัดกรองวัดไข้ ดูแลความสะอาด กำหนดตารางการฆ่าเชื้อตามพื้นผิวที่ถูกสัมผัสทุก 1-2 ชั่วโมง และอบโอโซนฆ่าเชื้อในสิริ แคมปัสตลอดเวลา รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ตามมาตรฐานการรักษาสุขอนามัยสากล เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ ให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติการที่สิริ แคมปัสอย่างทั่วถึง
“ด้านการฉีดวัคซีน แสนสิริเห็นความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อช่วยให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เราส่งเสริมให้พนักงานทุกคนลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิรับวัคซีนโควิด-19 ทางแอปหมอพร้อม รวมทั้งวางแผนหาแหล่งวัคซีนทางเลือกคุณภาพจากโรงพยาบาลเอกชน หากสามารถนำเข้าได้สำเร็จอีกช่องทาง เพื่อให้พนักงานได้รับวัคซีนครบอย่างทั่วถึงและโดยเร็วที่สุด เพราะเมื่อพนักงานของเราปลอดภัย ย่อมหมายถึงความปลอดภัยและอุ่นใจในการอยู่อาศัยในโครงการของลูกค้า ซึ่งเป็นครอบครัวแสนสิริด้วยเช่นกัน” อุทัย กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : www.sansiri.com/thai/

Work From Home ที่องค์กรต้องดูแล ไม่ใช่แค่งาน

“ต้องตื่นตี 4 จัดการลูก ๆ 2 ชั่วโมงก่อนจะพาไปโรงเรียน”
“ผมออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดไปทำงาน พอกลับถึงบ้านลูกก็หลับไปแล้ว”
“ฉันยุ่งมากตลอดทั้งวัน ทำงานเสร็จก็ต้องรีบออกไปรับลูก กลับมาทำอาหารเย็น เวลานอนน้อยมาก”
เสียงสะท้อนของคนวัยทำงานชาวอเมริกันเหล่านี้ แทบไม่ต่างกับมนุษย์งานชาวไทย ที่เหมือนร่างจะถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เวลาที่ต้องจัดงานเรื่องงานมือหนึ่ง กับอีกมือหนึ่งก็เป็นเรื่องครอบครัว
สิ่งที่อาจจะเหมือนกันอีกอย่างก็คือ เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับตัวอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเพิ่งรู้ตัวว่า การทำงานจากที่บ้าน ช่วยเพิ่ม Work Life Balance ได้อย่างมหาศาล
แองจีล รัสเซล คุณแม่ลูกหนึ่งบอกว่าเธอไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไป ทุกวันนี้ เธอเครียดน้อยลง เวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ได้ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ
คริสโตเฟอร์ โทมัส คุณพ่อผู้มีลูกสาววัย 3 ขวบบอกว่าเมื่อก่อนจะได้เจอหน้าลูกเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หลังจากเริ่มทำงานที่บ้าน ความสัมพันธ์พ่อลูกก็ดีขึ้นตามลำดับ ลูกสาวเริ่มสนิทกับพ่อมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะตั้งแต่ลูกเกิดมา พ่อก็ทำงานประจำที่ดึงเวลาจากครอบครัวมาตลอด
พนักงานหลายคนบอกว่า อยากให้บริษัทปรับตัวในทิศทางนี้กันมากขึ้น เพราะผลจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน
ดาร์กไซด์ของ Work From Home
แม้การทำงานที่บ้านจะมีข้อดีในเรื่องการจัดสรรเวลาชีวิต แต่การทำงานพร้อมไปกับการมีสมาชิกครอบครัวอยู่ในบ้านด้วย ก็อาจจะรบกวนการทำงานได้
พนักงานหลายคนมีภาระงานที่หนักขึ้น มีเสียงสะท้อนตามมาว่า ต้องรับภาระหนักทั้งงานออฟฟิศ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลลูก ๆ สอนหนังสือให้ลูกที่เรียนออนไลน์ ต้องหาอาหารให้กินครบ 3 มื้อ ทำงานบ้าน ฯลฯ อีกหลายคนบอกว่า ลูกชอบมารบกวน เรียกหาพ่อแม่เวลาทำงาน
แมรี เทรีส แจ็คสัน โปรแกรมเมอร์ บอกกับสำนักข่าว Vox ว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เจอคือ บริษัทและเพื่อนร่วมงานพยายามติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เช่น บอกให้พนักงานทุกคนเปิดหน้าจอเชื่อมต่อกันผ่านโปรแกรม Zoom ตลอดเวลา เธอบอกว่าโทรศัพท์มือถือของเธอดังทั้งวัน และอีเมลก็มีข้อความส่งมาตลอดเพราะแต่ละคนก็พยายามติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่มีทีมทำงาน
“บริษัททำเหมือนกับว่า ในเมื่อเรามีอุปกรณ์เชื่อมต่อกันออนไลน์ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้เหมือนเวลาอยู่ที่ออฟฟิศจริง ๆ ตามปกติสิ”
แจ็คสันบอกว่า ทำแบบนี้ยิ่งทำให้พนักงานเครียดหนักกว่าเดิม เธอเชื่อว่าบริษัทควรสื่อสารให้น้อย แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันที่ Work From Home ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด พบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดกังวลจากการดูแลพ่อแม่สูงวัย ลูกที่ยังเล็ก และรู้สึกว่าการทำงานที่บ้าน มีสิ่งรบกวนใจค่อนข้างเยอะ

เติมตัวช่วย เสริมงานเต็มประสิทธิภาพ
จากที่ว่ามา ดูเหมือนว่าการทำงานที่บ้านสำหรับหลายคนมีหลายเรื่องให้ต้องจัดการมากกว่าการอยู่ที่ทำงาน มีความไม่แน่นอน มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ต่างจากการอยู่ในออฟฟิศที่ชีวิตถูกแบ่งแยกให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
พอเป็นแบบนี้ ถึงการอยู่บ้านจะดูเหมือนคนทำงานมีเวลาเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาแต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้า และการเดินทาง ซึ่งเวลาที่ออกไปทำงาน ทุกอย่างถูกกำหนดเวลาไว้ค่อนข้างตายตัว แต่พอเอางานมาปนกับเรื่องครอบครัว การทำงานอยู่ที่บ้านก็กลายเป็นเรื่องจัดการไม่ได้ขึ้นมาทันที
สิ่งที่หลายคนต้องการคือเวลาที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาช่วยเติมช่องว่างซึ่งไม่เกิดขึ้นในเวลาที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ
Education Week สำนักข่าวอิสระเกี่ยวกับข่าวการศึกษา เป็นบริษัทที่ให้เวลายืดหยุ่นในการทำงานแก่พนักงาน ช่วงที่โควิดระบาด บริษัทต้องปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือช่วยเหลือให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่น
“บริษัทใช้โปรแกรม Slack เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทำงานเป็นทีม เพื่อนร่วมงาน เจ้านายจะรู้งานที่เราถืออยู่ มีกำหนดเดดไลน์ที่ชัดเจน เอกสารทุกอย่างสามารถอัพโหลดเอามาแชร์ในกลุ่มได้หมด บริษัทมีการสอบถามด้วยว่าวิธีนี้สะดวกสำหรับพนักงานไหม ก็ต้องขอบคุณบริษัทที่รับฟังและยอมให้ทุกคนกำหนดตารางเวลาทำงานได้เอง”
เอมมา แพตตี แฮร์ริส พนักงานบริษัท Education Week กล่าว
บริษัทบางแห่ง ช่วยดูแลลูก ๆ พนักงานไม่ให้รบกวนในเวลาที่พ่อแม่ทำงาน เช่น Twitter จัดค่ายสำหรับเด็กออนไลน์ ชวนน้อง ๆ หนู ที่เป็นลูกของพนักงานมาทำกิจกรรมร่วมกัน
“เรารู้ว่าโรงเรียน ค่ายฤดูร้อน รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งถูกสั่งระงับ พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้านมีความกดดันและมีภาระหน้าที่เยอะ เราเลยต้องการสร้างกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ มาเรียนรู้และสนุกสนานไปด้วยกันโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมาเป็นห่วง”
เทรซี ฮอว์คินส์ รองประธาน Twitter กล่าว
อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างราบรื่น บริษัทควรเห็นอกเห็นใจและเข้าใจพนักงาน ยอมรับว่าการทำงานอาจถูกขัดจังหวะได้ เช่น ลูกร้อง หรือมีเสียงรบกวนขณะประชุมทางวิดีโอคอล คอยสอบถามความต้องการ และเงื่อนไขชีวิตของพนักงานในการทำงานที่บ้าน มีการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ถนัดใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ
ที่มา
https://www.vox.com/
https://eightfold.ai/
https://business.nextdoor.com/
https://hbr.org/