
วิธีลดเสี่ยง Computer vision syndrome เมื่อต้องจ้องจอเกิน 3 ชั่วโมง/วัน
เช็คอาการ Computer vision syndrome จากการนั่งหน้าจอยาวนาน ในช่วง Work From Home แนะ 5 วิธี ป้องกันผลกระทบจากการทำงานหน้าจอ
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home มีผลให้ชีวิตส่วนตัว และงานถูกรวมเข้าด้วยกัน จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
การทำงานอยู่ที่บ้านแบบนี้มีทั้งผลดีที่ไม่ต้องไปพบปะกับผู้คน ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และได้อยู่บ้านกับครอบครัว แต่ถ้าไม่แบ่งเวลาการทำงานให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือการประชุมผ่านอินเตอร์เน็ต จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า ในสถานการณ์ที่ต้อง Work from home ทำงานอยู่บ้าน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท๊บเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้
หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน อาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
5 ข้อ ลดความเสี่ยง Computer vision syndrome
แพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวเสริมว่า ภาวะ computer vision syndrome คือกลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้
ทั้งนี้ อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การกระพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และการที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่คมชัดจึงทำให้ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้า และระยะห่างจากหน้าจอที่ไม่เหมาะสม รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ และท่าทางในการนั่งที่ไม่เหมาะสม
วิธีการง่าย ๆ ที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะcomputer vision syndromeได้แก่
1. กะพริบตาให้บ่อยขึ้น การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน
2. ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา 3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุตทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว
5.ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่ แนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม
หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็คดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที


เคล็ดลับใช้ชีวิตคู่ ยุค Work From Home
สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้างในครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานบริษัทหลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หน่วยงาน และบริษัทต่าง ๆ ตอบรับนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ หรือที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า Work From Home บางคนก็เรียกด้วยอักษรย่อว่า WFH ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อนั่นเอง
แต่เมื่อการทำงานที่บ้านนาน ๆ ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนช่วงเวลาปกติ คู่รักหลาย ๆ คน อาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เริ่มมีปัญหาทะเลาะกันบ่อยขึ้น รู้สึกว่าความรักไม่เหมือนเดิม ความสัมพันธ์ในครอบครัวน้อยลง จะมีวิธีปรับ mind set อย่างไร ให้เข้าใจกันมากกว่าเดิม เพื่อให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น
อาจารย์ปิยฉัตร เรืองวิเศษ ฟินนี่ นักจิตวิทยา นักครอบครัวบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาครอบครัว ผู้อำนวยการศูนย์ไทรศิลป์ ได้กล่าวถึงวิธีการและให้คำแนะนำ ผ่าน Facebook Live หัวข้อ “ใช้ชีวิตคู่อย่างไรให้เวิร์ค” ในยุค Work From Home ที่จัดโดยสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth Academy ว่า หัวใจสำคัญของการสร้างสัมพันธ์ของคู่รักและครอบครัว คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะให้สัมพันธภาพเดินหน้าต่อไปได้ การมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างคู่รัก ปัญหาความไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิตคู่ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ปกติก็ต่อเมื่อไม่หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ หากปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขหรือสร้างความเข้าใจซึ่งกันละกัน อาจนำไปสู่การอย่าร้าง เลิกราในที่สุด การเลี้ยงดูในอดีตของแต่ละคน ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตคู่ได้เช่นกัน
“จากงานวิจัยในประเทศของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับ สสส. พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 การเก็บสถิติข่าว แบ่งตามประเภทข่าวความรุนแรง ปรากฏว่าข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว พบ 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์อันเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างคู่รักหรือคู่ชีวิตในช่วง Work From Home คือ
1. บุคลิกภาพ Extrovert VS Introvert จะมีปฏิกิริยาต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เวลาต้องอยู่ด้วยกันระหว่าง Lock down นาน ก็จะแสดงความต้องการออกมา ไม่พอใจก็เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย หรือระเบิดอารมณ์ได้ในกรณีของคนที่ไม่ค่อยแสดงออก ความน้อยอกน้อยใจก็จะสะสมขึ้น บางครั้งอาจมีการตัดความหมายผิดไปจากเจตนาของคำพูดของคนรัก ทำให้ไม่เข้าใจกัน
2. การ lock down อาจทำให้อาการทางจิตแย่ลง ความวิตกจริต ความกังวลและภาวะซึมเศร้า จะมีผลส่งต่อความเครียดให้คนในบ้าน
3. Boundary หรือขอบเขตความเป็นส่วนตัวหายไป จากการที่เคยต้องออกไปทำงานและมีแค่ช่วงเย็น ๆ ที่จะได้ใช้เวลากับคนรักและครอบครัว กลายเป็นต้องอยู่ด้วยกันมากว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาครอบครัว ได้แนะนำ เทคนิคการสื่อสารความรู้สึกต่อคนที่เรารักและห่วงใย เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และ เทคนิคการขอร้องอย่างสร้างสรรค์ 2 Stars and a wish มีอะไรบ้าง มาดูกัน

เทคนิคการสื่อสารความรู้สึกต่อคนที่เรารักและห่วงใย เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
1. ถ้าสถานการณ์ยังตึงเครียด บอกกล่าวว่า “รักนะ แต่ขอเวลาเรียบเรียงความรู้สึกแล้วเดี๋ยวเรากลับมาคุยกันใหม่” รอให้ต่างฝ่ายต่างอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วค่อยมาปรับความเข้าใจกัน
2. เมื่อพร้อมจะคุย ภาษากายต้องเปิดกว้าง หรือ มีสัมผัสเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราต้องการเคลียร์จริง ๆ เช่น พร้อมที่จะสบตากัน แตะไหล่เบา ๆ นั่งข้าง ๆ กัน
3. เริ่มต้นจากการบอกความรู้สึกของเราก่อน เช่น “เมื่อกี๊เราโกรธเพราะพอเราพูด เธอไม่ฟังคำอธิบายก่อน ด่วนสรุปว่าเป็นความผิดของเราแล้วใส่อารมณ์กับเราเลย เราโกรธ เราเสียใจนะ”
4. พยายามเป็นผู้รับฟังที่ดี สะท้อนความรู้สึกของคนรัก เช่น ฉันเข้าใจนะว่าที่เธอเป็นแบบนี้เพราะกำลังเหนื่อยอยู่ใช่ไหม
5. ถ้าฝ่ายเรามี Message ที่สำคัญอยากให้คู่รักเปลี่ยนแปลง ให้ใช้ภาษาพูดที่จะทำให้เขาเข้าใจและได้ยินในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ใช้การสั่งหรือเรียกร้อง
2 Stars and a wish เทคนิคการขอร้องอย่างสร้างสรรค์
หากเราต้องการเสริมสร้างการสื่อสารให้แข็งแรง กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น แสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการอย่างสร้างสรรค์ ควรมีการประชุมครอบครัวอาทิตย์ละครั้งโดยใช้เทคนิคของการชมและการขอเปลี่ยนแปลง แบบนี้
2 Stars คือ คำชมต่อพฤติกรรมที่เราสังเกตระหว่างอาทิตย์ที่เราอยากชื่นชม สูตรของการชม ต้องมีความของรู้สึกของเรา + พฤติกรรมด้านบวก + บอกถึงความภาคภูมิใจในตัวเขา ตัวอย่าง “อาทิตย์นี้ฉันรู้สึกดีใจที่เห็นคุณพยายามช่วยงานบ้าน และอยากขอบคุณที่ช่วยแบ่งเบาภาระ วันก่อนขอบคุณที่ช่วยแวะซื้อกับข้าวให้นะ ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยออกไปอีก ช่วยเบาภาระเราได้เยอะเลย”
A wish คือ สิ่งที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวคู่รัก ตัวอย่างเช่น “เมื่อวานฉันยุ่งมากเลย ต้องทำทุกอย่าง แอบหวังว่าคุณจะพาลูกออกไปปั่นจักรยานเล่นสักครึ่งชั่วโมง ฉันจะได้มีเวลาพักหายใจบ้าง”
สสส. สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ในช่วงที่ต้องทำงานอยู่บ้านแบบนี้ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกาย ทำงานบ้าน เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย เพื่อสุขภาวะที่ดี ห่างไกลจากโควิด-19
Download คู่มือชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
Download คู่มือ กิจกรรมทางกายประจำบ้าน

เจาะ 5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย WFH สนุก มีประสิทธิภาพ
5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย สร้าง Happy Digital Workplace เน้นสะดวก ดูแลสุขภาพกาย-ใจ รักษาความสัมพันธ์ เติมทักษะต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กลายเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้สำหรับหลายคน
LINE ประเทศไทย มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace
1. ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
2. ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
3. ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
4. ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
5. การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย


มติ ศบค. องค์กรเน้น Work From Home ต่อเนื่อง-เตรียม Company Isolation
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค. มีมติให้คงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 – 31 สิงหาคม 2564 โดยเพิ่มมาตรการและการจัดการองค์กร ให้มีการดำเนินมาตรการ Test – Trace – Isolate เพิ่มการตรวจ ATK ใน กทม. และปริมณฑล ให้เน้นการ Work From Home พร้อมเตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน
โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดทำ Thai Covid Pass เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถใช้บริการในสถานประกอบการต่าง ๆ ได้ และเห็นชอบเปิดกิจการธนาคารและสถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้า รายละเอียด ดังนี้
1. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนไปแล้ว ทั้งสิ้น 23,592,227 โดส ทั้งนี้มีเป้าหมายให้บริการวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยจำนวน 10 ล้านโดส ในเดือนกันยายน 2564 โดยเร่งฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมเห็นชอบเกณฑ์ และแผนการจัดสรรวัคซีนเดือนกันยายน 2564 การจัดหาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ได้แก่ Sinovac จานวน 12 ล้านโดส และ ให้เจรจาจัดหาวัคซีนอื่น ๆ อีกจำนวน 10 ล้านโดส ภายในปี 2564
2. การประเมินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการจัดระดับพื้นท่ีสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดที่มีการระบาดในสถานประกอบการ และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งในระดับชุมชนและสถานประกอบการ จากการประเมินผลติดตามยังพบว่า สถานการณ์การระบาดของโรคยังมีแนวโน้มไม่ลดลง ทั้งกทม. ปริมณฑล และจังหวัดในพื้นท่ีควบคุมสูงสุด และเข้มงวด รวมทั้งหลายจังหวัดยังมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง พื้นที่กทม.และปริมณฑล ยังมีการระบาดในวงกว้างทั้งในชุมชน และ ครอบครัว จังหวัดในภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ยังพบการระบาดในสถานประกอบการ จังหวัดในภาคเหนือ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา จึงยังให้คงมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค ตามข้อกำหนดฉบับท่ี 30 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และปรับมาตรการบางส่วนเพื่อความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง และการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อลดการเสียชีวิตจากโควิด 19 และลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ดังนี้
1) การคงระดับพื้นที่สถานการณ์ยอ่ยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและตามมาตรการเดิมวันที่18-31ส.ค.2564
2) การเพิ่มมาตรการ และการจัดการขององค์กร
3) ให้ประชาชน องค์กร สถานประกอบการ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยตัวเองได้ โดยรัฐสนับสนุนให้มการใช้อย่างทั่วถึง และเน้นย้ำให้ประชาชน ใช้การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention)
4) ปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้
ทั้งนี้มอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข จัดทำเป็นแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเดิม รวมทั้งกำกับติดตามมาตรการ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายเศรษฐกิจกำกับติดตามมาตรการขององค์กร และการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
3. มาตรการควบคุมสำหรับการเดินทางเข้าออกทางน้ำเฉพาะกรณีเรือที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล
โดยที่ประชุมมีมติอนุญาตให้เรือที่ไม่มีสัญชาติไทยพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมหรือภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล หรือภารกิจบนบก โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับอนุมัติ หลักการนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะประกาศเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาต่อไป
4. การเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น (7+7) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระงี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังได้รับทราบการขออนุญาตผ่อนผันจัดการจัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และขออนุญาตผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน และ มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่อง การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ด้วย

สู้ต่อไปกับ Work From Home
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมาตรการปิดเมือง (lockdown) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเหมือนเช่นเคย มาตรการสำคัญในการล็อกดาวน์ครั้งนี้ คือให้ราชการและเอกชน Work From Home (WFH) ให้มากที่สุด
การ WFH จริง ๆ แล้วเป็นแนวทางที่เริ่มได้รับความสนใจมาตั้งแต่ก่อนการมีโรคระบาดโควิด-19 เสียอีก เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทำให้การทำงานหลายประเภทสามารถทำได้จากทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในสำนักงาน การ WFH หากบริหารจัดการได้ดี เป็นแนวทางที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นของพนักงานจากการทำงานจากที่บ้าน เช่น การศึกษาในประเทศจีนที่พบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเพิ่มขึ้น 13% จากการให้พนักงาน WFH เป็นระยะเวลานาน 9 เดือน
อย่างไรก็ตาม การ WFH เป็นระยะเวลานานภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ กำลังนำไปสู่อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือ ความรู้สึกหมดพลังในการทำงาน

ความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่ยังไม่สามารถจัดการได้ อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟจากการทำงาน (burn-out) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะในปี 2562 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ภาวะหมดไฟจากการทำงานอยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรคฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases)
จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต2 หากภาวะหมดไฟจากการทำงานไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลเสียในด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เช่น เกิดความเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ เช่น หมดความสนุกในการทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน หมดหวัง และอาจมีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ และผลต่อการทำงาน เช่น อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
การ WFH มาเป็นระยะเวลาเกือบปี ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลายาวนานได้ และอาจเริ่มนำไปสู่อาการหมดไฟจากการทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อการทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวได้ ทำให้มีเวลาในการหยุดพักไม่เพียงพอ
จากการศึกษาข้อแนะนำต่าง ๆ ในการจัดการการ WFH ไม่ให้นำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง พบว่า หัวใจสำคัญคือการแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ได้ เพราะการ WFH ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกแยะเวลางานจากเวลาพักผ่อน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในชีวิต ดังนั้น ข้อแนะนำสำคัญในการ WFH คือการแยกพื้นที่การทำงานออกให้เป็นสัดส่วน ถึงแม้จะไม่สามารถมีห้องทำงานแยกออกมาได้ แต่แค่มีเก้าอี้สำหรับการนั่งทำงานโดยเฉพาะ ก็สามารถช่วยในด้านความรู้สึกได้ในระดับหนึ่งแล้ว
การจัดตารางเวลาการทำงานให้ชัดเจน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการชีวิตการทำงานให้แยกจากชีวิตส่วนตัว เพราะเป็นการสร้างเส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงาน เวลาในการพักผ่อนและดูแลครอบครัว ซึ่งตารางเวลานี้อาจปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเป็นตารางที่ตายตัว เช่น หากสัปดาห์นี้ต้องช่วยลูกในการเรียนออนไลน์ช่วงเช้า ก็อาจลองปรับเวลาทำงานเป็นช่วงบ่ายและช่วงเย็นแทน ซึ่งตรงนี้ที่ทำงานต้องให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงานในการจัดการเวลาของตนเอง
ในการ WFH สิ่งหนึ่งที่หายไป คือ ช่วงเวลาในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในการ WFH เพราะการได้ทำงานที่บ้านทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทางในแต่ละวันไปได้มาก แต่ช่วงเวลาในการเดินทางก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งที่คนมักไม่ได้นึกถึง คือเป็นช่วงเวลาในการปรับอารมณ์ให้เข้าสู่โหมดของการทำงาน และมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งเส้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงาน ดังนั้น หากจะให้ดี จึงแนะนำให้เริ่มวันด้วยการออกไปเดินเล่นซัก 10-15 นาทีเพื่อปรับสภาพอารมณ์ให้พร้อมก่อนจะเริ่มการทำงาน และเมื่อหมดเวลาทำงาน ก็ควรหาเวลาในการเดินเพื่อผ่อนคลาย และปรับอารมณ์ในการเข้าสู่โหมดการพักผ่อน
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะ WFH หรือไม่ ต้องไม่ลืมการดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี หาเวลาในการทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบบ้าง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมาธิ การใช้เวลากับคนในครอบครัว และการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ที่มา : มนสิการ กาญจนะจิตรา, เว็บไซต์ The Prachakorn

กลุ่มบริษัทเคซีจี จัดฉีดวัคซีนให้พนักงาน-ครอบครัว-กลุ่มด้อยโอกาส
เคซีจี จัดฉีดวัคซีนให้พนักงานและครอบครัว พร้อมมาตรการตรวจหาเชื้อต่อเนื่อง- Work From Home 100% รวมทั้งดูแลพนักงานที่พบการติดเชื้อ พร้อมแบ่งปันวัคซีนให้กลุ่มด้อยโอกาส รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาล
ตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดูแลพนักงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ การฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงทุกกลุ่มคนในสังคมอย่างเท่าเทียม ถือเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดหาวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัว รวมถึงแบ่งปันวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้ประเทศสามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ด้วยเร็ว
“การจัดสรรวัคซีนให้แก่พนักงานและครอบครัวพนักงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายมาตรการในการดูแลพนักงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทางเรามีการดำเนินการเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานที่ทำงานทุกสาขา มีมาตรการ Work From Home เต็มรูปแบบ สนับสนุนอุปกรณ์ตามมาตรฐานการรักษาสุขอนามัยสากล เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ และมีการเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE)”

สำหรับพนักงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เคซีจีมีการจัดซื้อประกันภัย ร่วมกับตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้แก่พนักงานทุก 10 วัน โดยหากพบว่ามีการติดเชื้อ ทางบริษัทฯ จะประสานงานกับหน่วยงานภายนอกหาสถานพยาบาลเพื่อรับพนักงานเข้าทำการรักษา รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ยังชีพสำหรับพนักงานที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล

นอกจากนี้ เคซีจียังมอบผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายในเครือ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งจัดโครงการ “KCG x GON จุดไฟปรุงฝัน” สนับสนุนการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนไทยที่ว่างงาน ทั้งเด็กจบใหม่ คนตกงาน หรือพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายอิมพีเรียล และอลาวรี่ ปัจจุบันเป็นกลุ่มบริษัทในเครือเคซีจี (KCG Corporation) ที่เป็นการควบรวมของธุรกิจในเครือทั้ง 9 แห่งเข้าด้วยกันในปี 2557

แนะ 6 เทคนิค ลดเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
กรมอนามัยห่วง นโยบาย Work From Home ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลคนทำงานมีปัญหาสุขภาพ จากสถานที่ และอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม แนะ 6 วิธีปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงจากอาการออฟฟิศซินโดรม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อขอความร่วมมือให้คนไทยอยู่บ้าน งดการเดินทาง หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ วัยทำงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงาน อีกทั้งอุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ตามมาได้
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ไม่เต็มร้อย รวมถึงอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อน ไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นและนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการ ใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

ทั้งนี้ วัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้
1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย
2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง
4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
5) กินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่
6) ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย

ลดเสี่ยง Lockdown Brain Fog เมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน
Work From Home ระวังอาการสมองตื้อ เบลอ มึน คิดอะไรไม่ออก งานไม่เดิน แนะวิธีง่าย ๆ ตอบโจทย์ธรรมชาติคนทำงาน ทั้งกายใจ ประสิทธิภาพงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
Lockdown Brain Fog หมายถึงอาการสมองตื้อ เบลอ เหมือนนอนไม่พอ มีอาการมึน ๆ งง ๆ ทำอะไรไม่เต็มที่ เป็นคำที่ถูกพูดถึงการทำงานจากที่บ้านต่อเนื่องกันนาน ๆ ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
สาเหตุของอาการดังกล่าว มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ขาดการสื่อสาร ขาดสังคม ไม่ได้พูดคุยกับใคร จนสมองมึนเบลอ เพราะถูกใช้งานน้อยลง
- ความซ้ำซากจำเจ อยู่แต่ในบ้าน เจอแต่สิ่งเดิม ๆ ไปไหนไม่ได้ ไม่ได้เจออะไรแปลกใหม่
- ความเหงา จากการต้องอยู่คนเดียว ทำอะไรวน ๆ ซ้ำ ๆ เหมือนเดิมไปทุก ๆ วัน
สาเหตุเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ เพราะการใช้ชีวิตแบบนี้ ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องใช้สมองในการจัดการ สื่อสาร คิด มีการทดสอบพบว่า เมื่อต้องอยู่บ้านนาน ๆ สมองของกลุ่มตัวอย่างจะมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งถ้าได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ ประสิทธิภาพของสมองก็ค่อย ๆ กลับคืนมา

วิธีการที่จะหลีกเลี่ยงอาการ Lockdown Brain Fog ง่าย ๆ ได้แก่
ถึงแม้ในช่วงนี้เทคโนโลยีสื่อสาร จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบปะเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้น จัดการเวลาได้เองมากขึ้น แต่การมีตารางเวลาที่แน่นอนในการดำเนินกิจวัตรประจำวันยังเป็นสิ่งที่สำคัญ
เวลาการเริ่มงาน และเลิกงาน ที่แน่นอน จะช่วยให้สมองรับรู้ถึงการได้รับการพักผ่อนที่แท้จริง เพราะความยืดหยุ่นในการทำงานแบบ Work from home อาจจะทำให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดภาวะเครียด เพราะการใช้เวลาอยู่กับงานมากจนเกินไป
การเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า พร้อมสำหรับการทำงาน เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยอาหารเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ กาแฟอีกสักแก้ว ออกกำลังกายเบา ๆ อาบน้ำให้สดชื่น ก่อนเริ่มต้นการทำงาน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการทำกิจกรรมใด ๆ ให้เป็นนิสัย (Habits) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงบ้านจะกลายเป็นที่ทำงาน การมีเวลาพัก (Breaks) ที่แน่นอนยังจำเป็น เพราะการทำงานอยู่ที่บ้าน เรามีเวลาเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทาง หลายคนทำงานยาว ๆ ทำงานจนเพลิน ขณะที่สมองและร่างกายอ่อนล้าโดยไม่รู้ตัว
การวางงานลงสัก 15 นาที ลุกขึ้น บิดตัวไปมา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ พักสายตา เดินเล่นรอบบ้าน โทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง หรือรับประทานอาหารเบรคพร้อมกับเพื่อน ๆ ผ่านวิดีโอคอลล์ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อรักษาวิถีชีวิตตามธรรมชาติของเราเอาไว้
การลุกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้นสาย พักสายตาด้วยการมองระยะไกล ๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบทจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่อง ออกไปสูดอากาศธรรมชาติ จะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เพราะความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นตอนที่เรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย
ถึงแม้ว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน แต่การพูดคุยและสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานยังจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์และมิตรภาพในสังคมการทำงาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยถึงประเด็นปัญหา ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เป็นวิธีการที่ดีในการเสริมสร้างสุขภาพจิตให้แข็งแรง
การ Work from home เป็นรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสูง แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะเป็นรูปแบบที่คนทำงานส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย และการปรับตัวอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ที่มา :
สมองตื้อ เบลอ มึนงง อาจเกิดจากภาวะ Lockdown Brain Fog. กรมสุขภาพจิต
Work from home อย่างไรให้สุขภาพกายและใจยังแข็งแรง. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

แพทย์เตือน ทำงานบนเตียง เสี่ยงกว่าที่คิด
พบคนรุ่นใหม่ Work From Home นิยมนั่ง-นอนทำงานบนเตียง แพทย์ชี้เสี่ยงเกินคาด ส่งผลระยะยาว ต่อสุขภาพเมื่อสูงวัย โควิด-19 อยู่อีกยาว แนะลงทุนซื้อโต๊ะ เก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ทุกคนไม่ได้เตรียมตัวเพื่อทำงานที่บ้าน บางคนไม่อยากทำงานที่บ้านด้วยซ้ำ แต่ถูกบังคับ
โดยสถานการณ์ COVID-19 นอกจากนี้บรรยากาศและการถูกบังคับไม่ให้ไปไหน ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน จึงมีความขี้เกียจเกิดขึ้น การทำงานบนเตียงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด และกลุ่มคนทำงานอายุน้อยส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะทำงานบนเตียงมากกว่าไปทำงานในโต๊ะรับประทานอาหาร หรือโต๊ะครัว
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวถึง สำหรับหลายคนการทำงานจากบ้าน ยังหมายถึงทำงานบนเตียงด้วย (work from home = work from bed) การต้องรีบตื่น อาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน กลายเป็นการล้างหน้า เปิดคอมพิวเตอร์และนั่งทำงานบนเตียงต่อ
มีการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2000 พบว่าคนอเมริกัน 72% จากที่สำรวจ 1000 คน ทำงานบนเตียง ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% ตั้งแต่มี COVID-19 ระบาด ทุกหนึ่งในสิบคนจะบอกว่าทำงานอยู่บนเตียง 24-40 ชั่วโมงหรือมากกว่า
ขณะที่หนุ่มสาวอังกฤษอายุ 18-34 ปี นั่งทำงานโดยไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม และทำงานบนเตียงมากกว่าแรงงานที่อายุมากกว่าถึงสองเท่า การทำงานในเตียงไม่ใช่แค่ไม่มีที่นั่งทำงานที่เหมาะสม กลับกลายเป็นแฟชั่นไป
ในความเป็นจริงการทำงานบนเตียง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาหลายอย่าง ทั้งด้านจิตใจและด้านร่างกาย แม้จะไม่รู้สึกในตอนนี้ ผลจะคงอยู่ ไปเรื่อย ๆ และจะแสดงอาการในระยะเวลาต่อมา ในทางเออร์โกโนมิกส์ถือว่าไม่เหมาะสมกับร่างกายทั้งนั้น

การทำงานบนเตียงจะทำให้เกิดอันตรายของกล้ามเนื้อคอ หลัง สะโพก และมีอันตรายมากขึ้นเมื่อทำงานในเตียงนุ่ม ๆ ในคนทำงานหนุ่มสาวจะมีอันตรายมากกว่า เนื่องจากไม่ค่อยมีอาการปวดขณะทำงานบนเตียง แต่หลังจากนั้น ก็จะมีอาการของกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นผลจากการนอนทำงานบนเตียง ถึงตอนนี้พวกเขาจะแข็งแรง แต่ในอนาคต ก็จะมีโรคหรือปัญหาทางเออร์โกโนมิกส์เกิดขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งรวมถึงอาการปวดศีรษะ และในที่สุดจะปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังแข็งเกร็ง ปวดคอ จากการบาดเจ็บของกระดูก เอ็นและกล้ามเนื้อที่คอ
ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องทำงานบนเตียง ก็พยายามนึกว่านั่งทำงานบนเก้าอี้ ให้นั่งหลังตรง อยู่ในท่าเหมือนนั่งเก้าอี้ จะช่วยลดการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อได้ ม้วนผ้าห่มหรือใช้หมอนหนุนหลังเป็น lumbar support สอดหมอนรองเข่าพยายามแยก จอออกจาก keyboard เพื่อให้จออยู่ในระดับสายตาไม่ต้องก้มหน้ามอง (อาจใช้ remote keyboard) อย่านอนคว่ำหน้าพิมพ์งาน จะมีการบาดเจ็บที่คอและข้อศอกอย่างมาก พยายามทำงานในหลาย ๆ ท่าทาง เช่นยืนทำงานบ้าง และต้องคิดไว้ว่า COVID-19 ยังอยู่อีกนาน อาจจะคุ้มที่จะหาซื้อ โต๊ะ เก้าอี้ ทำงานที่เหมาะสม
ที่มา : กรมการเเพทย์

Work From Home ที่องค์กรต้องดูแล ไม่ใช่แค่งาน

“ต้องตื่นตี 4 จัดการลูก ๆ 2 ชั่วโมงก่อนจะพาไปโรงเรียน”
“ผมออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดไปทำงาน พอกลับถึงบ้านลูกก็หลับไปแล้ว”
“ฉันยุ่งมากตลอดทั้งวัน ทำงานเสร็จก็ต้องรีบออกไปรับลูก กลับมาทำอาหารเย็น เวลานอนน้อยมาก”
เสียงสะท้อนของคนวัยทำงานชาวอเมริกันเหล่านี้ แทบไม่ต่างกับมนุษย์งานชาวไทย ที่เหมือนร่างจะถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เวลาที่ต้องจัดงานเรื่องงานมือหนึ่ง กับอีกมือหนึ่งก็เป็นเรื่องครอบครัว
สิ่งที่อาจจะเหมือนกันอีกอย่างก็คือ เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับตัวอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเพิ่งรู้ตัวว่า การทำงานจากที่บ้าน ช่วยเพิ่ม Work Life Balance ได้อย่างมหาศาล
แองจีล รัสเซล คุณแม่ลูกหนึ่งบอกว่าเธอไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไป ทุกวันนี้ เธอเครียดน้อยลง เวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ได้ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ
คริสโตเฟอร์ โทมัส คุณพ่อผู้มีลูกสาววัย 3 ขวบบอกว่าเมื่อก่อนจะได้เจอหน้าลูกเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หลังจากเริ่มทำงานที่บ้าน ความสัมพันธ์พ่อลูกก็ดีขึ้นตามลำดับ ลูกสาวเริ่มสนิทกับพ่อมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะตั้งแต่ลูกเกิดมา พ่อก็ทำงานประจำที่ดึงเวลาจากครอบครัวมาตลอด
พนักงานหลายคนบอกว่า อยากให้บริษัทปรับตัวในทิศทางนี้กันมากขึ้น เพราะผลจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน
ดาร์กไซด์ของ Work From Home
แม้การทำงานที่บ้านจะมีข้อดีในเรื่องการจัดสรรเวลาชีวิต แต่การทำงานพร้อมไปกับการมีสมาชิกครอบครัวอยู่ในบ้านด้วย ก็อาจจะรบกวนการทำงานได้
พนักงานหลายคนมีภาระงานที่หนักขึ้น มีเสียงสะท้อนตามมาว่า ต้องรับภาระหนักทั้งงานออฟฟิศ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลลูก ๆ สอนหนังสือให้ลูกที่เรียนออนไลน์ ต้องหาอาหารให้กินครบ 3 มื้อ ทำงานบ้าน ฯลฯ อีกหลายคนบอกว่า ลูกชอบมารบกวน เรียกหาพ่อแม่เวลาทำงาน
แมรี เทรีส แจ็คสัน โปรแกรมเมอร์ บอกกับสำนักข่าว Vox ว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เจอคือ บริษัทและเพื่อนร่วมงานพยายามติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เช่น บอกให้พนักงานทุกคนเปิดหน้าจอเชื่อมต่อกันผ่านโปรแกรม Zoom ตลอดเวลา เธอบอกว่าโทรศัพท์มือถือของเธอดังทั้งวัน และอีเมลก็มีข้อความส่งมาตลอดเพราะแต่ละคนก็พยายามติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่มีทีมทำงาน
“บริษัททำเหมือนกับว่า ในเมื่อเรามีอุปกรณ์เชื่อมต่อกันออนไลน์ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้เหมือนเวลาอยู่ที่ออฟฟิศจริง ๆ ตามปกติสิ”
แจ็คสันบอกว่า ทำแบบนี้ยิ่งทำให้พนักงานเครียดหนักกว่าเดิม เธอเชื่อว่าบริษัทควรสื่อสารให้น้อย แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันที่ Work From Home ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด พบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดกังวลจากการดูแลพ่อแม่สูงวัย ลูกที่ยังเล็ก และรู้สึกว่าการทำงานที่บ้าน มีสิ่งรบกวนใจค่อนข้างเยอะ

เติมตัวช่วย เสริมงานเต็มประสิทธิภาพ
จากที่ว่ามา ดูเหมือนว่าการทำงานที่บ้านสำหรับหลายคนมีหลายเรื่องให้ต้องจัดการมากกว่าการอยู่ที่ทำงาน มีความไม่แน่นอน มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ต่างจากการอยู่ในออฟฟิศที่ชีวิตถูกแบ่งแยกให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
พอเป็นแบบนี้ ถึงการอยู่บ้านจะดูเหมือนคนทำงานมีเวลาเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาแต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้า และการเดินทาง ซึ่งเวลาที่ออกไปทำงาน ทุกอย่างถูกกำหนดเวลาไว้ค่อนข้างตายตัว แต่พอเอางานมาปนกับเรื่องครอบครัว การทำงานอยู่ที่บ้านก็กลายเป็นเรื่องจัดการไม่ได้ขึ้นมาทันที
สิ่งที่หลายคนต้องการคือเวลาที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาช่วยเติมช่องว่างซึ่งไม่เกิดขึ้นในเวลาที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ
Education Week สำนักข่าวอิสระเกี่ยวกับข่าวการศึกษา เป็นบริษัทที่ให้เวลายืดหยุ่นในการทำงานแก่พนักงาน ช่วงที่โควิดระบาด บริษัทต้องปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือช่วยเหลือให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่น
“บริษัทใช้โปรแกรม Slack เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทำงานเป็นทีม เพื่อนร่วมงาน เจ้านายจะรู้งานที่เราถืออยู่ มีกำหนดเดดไลน์ที่ชัดเจน เอกสารทุกอย่างสามารถอัพโหลดเอามาแชร์ในกลุ่มได้หมด บริษัทมีการสอบถามด้วยว่าวิธีนี้สะดวกสำหรับพนักงานไหม ก็ต้องขอบคุณบริษัทที่รับฟังและยอมให้ทุกคนกำหนดตารางเวลาทำงานได้เอง”
เอมมา แพตตี แฮร์ริส พนักงานบริษัท Education Week กล่าว
บริษัทบางแห่ง ช่วยดูแลลูก ๆ พนักงานไม่ให้รบกวนในเวลาที่พ่อแม่ทำงาน เช่น Twitter จัดค่ายสำหรับเด็กออนไลน์ ชวนน้อง ๆ หนู ที่เป็นลูกของพนักงานมาทำกิจกรรมร่วมกัน
“เรารู้ว่าโรงเรียน ค่ายฤดูร้อน รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งถูกสั่งระงับ พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้านมีความกดดันและมีภาระหน้าที่เยอะ เราเลยต้องการสร้างกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ มาเรียนรู้และสนุกสนานไปด้วยกันโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมาเป็นห่วง”
เทรซี ฮอว์คินส์ รองประธาน Twitter กล่าว
อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างราบรื่น บริษัทควรเห็นอกเห็นใจและเข้าใจพนักงาน ยอมรับว่าการทำงานอาจถูกขัดจังหวะได้ เช่น ลูกร้อง หรือมีเสียงรบกวนขณะประชุมทางวิดีโอคอล คอยสอบถามความต้องการ และเงื่อนไขชีวิตของพนักงานในการทำงานที่บ้าน มีการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ถนัดใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ
ที่มา
https://www.vox.com/
https://eightfold.ai/
https://business.nextdoor.com/
https://hbr.org/